รับศีล


    ผู้ฟัง ช่วงนี้เป็นสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา มีพุทธศาสนิกชนพากันไปรักษาศีล โดยมากมักจะไปรับศีล ๕ ศีล ๘ และท่านอาจารย์เคยพูดถึงศีลซึ่งไม่ค่อยได้ยินกันบ่อยนัก คือ อธิศีล และอินทรียศีล ศีล ๒ อย่างนี้ความแตกต่างจากศีล ๕ ศีล ๘ อย่างไร

    ท่านอาจารย์ เวลานี้ถ้าใครชวนไปรับอินทรียสังวรศีล ก็อย่าไป เพราะว่ายังไม่มีความรู้อะไร ไปไม่ได้ ต้องเป็นเรื่องของการอบรมปัญญา

    คุณศุกล ปกติแล้วเราก็มักจะพูดถึงศีลที่เป็นศีล ๕ ศีล ๘ เมื่อมีการรับแล้ว ก็ไปประพฤติปฏิบัติในวันหนึ่งคืนหนึ่ง แต่ศีลที่มีความสำคัญ และค่อนข้างจะยากที่ท่านอาจารย์พูดว่า อธิศีล และอินทรียศีล ศีลทั้ง ๒ จะเกิดขึ้นเมื่อไร อย่างไรครับ

    ท่านอาจารย์ เมื่อสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    คุณศุกล เพราะขณะนั้นยังไม่มีการล่วงทางกาย ทางวาจา อะไรเลย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเป็นศีลที่ละเอียดกว่า เพราะว่าการล่วง นี่ล่วงไปโดยไม่รู้สภาพของจิตเลย แต่ว่าอินทรียสังวรศีล ไม่ว่าจิตขณะใดเกิดขึ้นเป็นอย่างไร สติก็ระลึกรู้ เพราะฉะนั้นก็ละเอียดกว่า จึงเป็นอธิศีล

    คุณศุกล คำจำกัดความของศีล หมายความว่า เป็นความประพฤติทางกาย ทางวาจาใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ

    คุณศุกล ความจริงแล้วสมมติเราเข้าใจอย่างนี้ เกือบไม่ต้องไปรับหรือไปขอกับใครเลย อยู่กับบ้านก็คิดว่า ถ้ามีความเข้าใจว่า ศีลคือความประพฤติทางกาย ทางวาจา และเราก็เข้าใจว่า ๑. เราไม่เบียดเบียน เราไม่ฆ่าสัตว์ ๒. เราไม่พูดสิ่งที่ไม่เป็นความจริง มุสา คือสิ่งที่เราสามารถประพฤติปฏิบัติได้ ก็เป็นปกติอยู่กับบ้านก็ได้ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ก็เป็นนิจศีล

    คุณศุกล นิจศีล คือ ปกติใช่ไหมครับ แล้วทำไมส่วนใหญ่จึงชอบพากันไปรับ ไปสมาทาน

    ท่านอาจารย์ ก็คงแสดงว่าปกติไม่มี ถ้าปกติมีแล้ว ก็ไม่ต้องไปขอใครมาทำอะไรอีก

    คุณศุกล หรือเพื่อเป็นการยืนยันกับตัวเองว่า เมื่อเราได้ไปสัญญากับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เช่น พระภิกษุแล้ว เราจะได้มีความระมัดระวัง อย่างนั้นเป็นเหตุผลได้ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วอยู่ที่ใจของแต่ละคน ทำไมจะต้องไปยืนยันกับใครถ้าเรามีความตั้งใจที่มั่นคง


    หมายเลข 8183
    24 ส.ค. 2567