ถูกเนื้อต้องตัวพระขณะที่รักษาพยาบาล


    คุณศุกล ขอถามเรื่องพระวินัย พระป่วยมารักษาที่โรงพยาบาลให้การรักษาถูกตัว จะไม่ผิดศีลของโยมหรือ ก่อนถูกต้องตัวท่าน โยมควรจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะไม่ผิดศีล

    ท่านอาจารย์ ที่จริงดิฉันต้องขอเรียนให้ทราบว่า ดิฉันมีความรู้ที่น้อยมากทีเดียวในเรื่องของพระวินัย แต่ถ้าจะพิจารณาจากพระวินัยในพระไตรปิฎกที่อ่านเองบ้าง และตามเหตุตามผล ก็จะทราบได้ว่า วินัยสำหรับพระภิกษุ ไม่ใช่สำหรับคฤหัสถ์ อันนี้ต้องแยก เพราะเหตุว่าวินัยสำหรับผู้บวช และอยู่ร่วมกัน ถ้าการอยู่ร่วมกันนั้น ต่างคนต่างทำตามใจชอบ ไม่เคารพซึ่งกัน และกัน ก็ไม่สามารถอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุกได้

    เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติพระวินัยด้วยเหตุผล ๑๐ ประการ ซึ่งคงมีในเทป ประการหนึ่งก็คือ เพื่อขัดเกลากิเลสด้วยสำหรับพระภิกษุ ไม่ให้กิเลสกำเริบ เพราะฉะนั้นวินัยของพระภิกษุ ท่านก็ต้องรู้ว่า จุดประสงค์ของการบวชเพื่ออบรมเจริญปัญญา เพื่อละคลายกิเลส ทั้งๆ ที่การเจริญปัญญาสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมในเพศคฤหัสถ์ได้ แต่เมื่อท่านมีศรัทธาจะประพฤติธรรมในเพศของบรรพชิต ท่านก็ต้องเป็นผู้รู้วินัยด้วยว่า สำหรับชีวิตของพระภิกษุที่ต่างกับคฤหัสถ์ ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือว่า เรื่องของพระภิกษุเป็นเรื่องละ ซึ่งเรื่องของคฤหัสถ์ที่ไม่เป็นพระภิกษุ เพราะว่าติด เราติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในอาหารอร่อย ในเรื่องสนุก ในทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งเป็นชีวิตของคฤหัสถ์ แต่ผู้ที่สามารถบำเพ็ญชีวิตอย่างบรรพชิตได้ ต้องเป็นผู้ที่สละ คือ ละชีวิตของคฤหัสถ์จริงๆ เพราะฉะนั้นท่านจึงเป็นผู้ไม่ครองเรือน และในขณะเดียวกัน ท่านต้องเป็นผู้สำรวจตรวจจิตใจของท่านเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ปัจจัย เช่น ในการครองจีวร ในการบริโภคอาหาร ทุกสิ่งทุกประการ แม้แต่คำพูด ท่านจะพูดคำที่ไม่น่าฟังอย่างชาวบ้านไม่ได้เลย อันนั้นเป็นทุพภาษิต เป็นคำที่ไม่เหมาะ ไม่ควร จะใช้คำไม่สุภาพไม่ได้ นั่นไม่ใช่บรรพชิต

    เพราะฉะนั้นหลักของท่านมีว่า ท่านบวชเป็นพระเพื่อละทุกอย่าง ความติดทั้งหลาย เพราะฉะนั้นเวลามีการรักษาพยาบาล หรือมีการเดินทางในรถประจำทาง หรือที่หนึ่งที่ใดก็ตาม ก็อาจจะมีการกระทบกับผู้หญิง ท่านใช้คำว่า มาตุคาม ซึ่งเป็นอันตรายต่อเพศภิกษุ ถ้าท่านเกิดความยินดี แต่ถ้าท่านไม่เกิดความยินดี ท่านไม่รู้สึกอะไร ขณะนั้นไม่อาบัติค่ะ


    หมายเลข 8184
    24 ส.ค. 2567