สิ่งที่ต้องระวังที่สุดคือ...ความคิด


    ผู้ฟัง เรื่องเกี่ยวกับการพูด ถ้าพูดมากไปก็จะผิดมาก หรืออาจมีคนไม่ชอบความคิดของเราที่พูดออกไป การพูดมากจึงไม่ดี ดิฉันเห็นเขาเขียนไว้ว่า “ควรพูดเรื่องความดีของคนอื่นให้มาก และให้พูดถึงความไม่ดีของตัวเอง ไม่ควรพูดถึงความไม่ดีของคนอื่น และไม่ควรพูดถึงความดีของตัวเอง” ดิฉันเห็นว่าข้อความนี้น่าพิจารณาว่า ทำตามที่เขาบอกนี่น่าจะดี

    ท่านอาจารย์ ไม่ควรพูดทุกอย่างที่ไม่ทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าไม่สนทนาธรรม ทุกเรื่องนั้นเป็นเดรัจฉานกถา

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่กถาที่ทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่เรื่องการพูดมีข้อความในพระไตรปิฎกที่ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างไร ข้อสำคัญที่สุดคือ พูดเรื่องจริง ประการที่ ๑ ต้องเป็นเรื่องจริง และประการที่ ๒ นอกจากจะเป็นเรื่องจริงแล้ว ยังต้องพิจารณาว่า เรื่องจริงนั้นเป็นประโยชน์ไหม ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องจริง เขาทำอย่างนั้นจริงๆ เขาพูดอย่างนั้นจริงๆ แต่มีประโยชน์ไหม ถ้าเราจะพูดถึงหรือจะบอกใคร หรือจะเล่าให้ใครฟัง ถ้าไม่มีประโยชน์อะไรเลย ไม่ควรพูด

    เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคทรงคำนึงถึงประโยชน์ก่อน แม้ว่าจะเป็นเรื่องจริง สิ่งนั้นมีประโยชน์ไหม ถ้าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แม้ว่าเป็นเรื่องจริง ยังต้องดูกาลในการพูดด้วยว่าสามารถเป็นประโยชน์ได้จริงๆ หรือเปล่า ไม่ใช่ว่าเมื่อเป็นเรื่องจริงแล้วเราคิดว่า มีประโยชน์ เราก็พูดทันที ยังต้องดูกาลด้วย

    ผู้ฟัง คิดว่าในชีวิตประจำวัน การสนทนากันก็เป็นเรื่องที่ควรระมัดระวัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธุรกิจอะไรต่างๆ เมื่อนึกถึงความสำคัญอย่างนี้ เวลาที่จะพูดทำให้สติเกิดได้บ่อยขึ้น

    ท่านอาจารย์ อันนี้ก็มีประโยชน์ เพราะว่าเราพูดมากกว่าทำ ใช่ไหมคะ แต่มากกว่านั้นก็คือคิด เราไม่ได้พูดทุกเรื่องทุกคำที่เราคิด ใช่ไหมคะ แสดงว่าการกระทำน้อยกว่าคำพูด แล้วคำพูดก็ยังน้อยกว่าความคิด

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะต้องระวังที่สุด ก็คือความคิด ถ้าสติจะระลึกได้ แล้วก็รู้ว่า ขณะนั้นคิดด้วยกุศลจิตหรือด้วยอกุศลจิต เพราะเหตุว่าการพูดก็ต้องพูดด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิต เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถรู้ความคิดก็ยิ่งละเอียดกว่า เพราะคิดนี่ก็ต้องคิดไว้มากแล้วถึงจะพูดออกมาบ้างนิดหน่อย ใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง พูดถึงความคิด เวลาเจริญสติ ถ้าสติระลึกทางความนึกคิด ดิฉันรู้สึกว่ามีประโยชน์มากกว่า คือ ทุกทางมีประโยชน์ แต่อยู่ในฐานะอย่างนี้ คิดว่า สติเกิดเวลาที่คิดนึกมีประโยชน์มากเลย มากกว่าที่จะเกิดทางตา ทางเสียง ทางรูป เพราะเวลาสติเกิดรู้ว่าคิดนึกเป็นอย่างไร ก็ทำให้เป็นสุข ก็ยังติดสุขอยู่ค่ะ

    ท่านอาจารย์ แต่จริงๆ แล้วในขณะนั้นยังไม่ใช่สติปัฏฐาน ถ้าเป็นสติปัฏฐานจะทั่วหมดทุกทาง เสมอกันที่ว่า เป็นลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม

    ผู้ฟัง อันนั้นก็ถูกต้องค่ะ ดิฉันก็คิดว่า อันนั้นก็ยังไม่สงบ เพราะจิตเรายังไม่สูงขนาดนั้น แต่มาแค่ตอนคิดนึก แล้วรู้ว่าเป็นแค่คิดนึกเท่านั้น ก็รู้สึกว่าสบายขึ้น


    หมายเลข 8189
    24 ส.ค. 2567