กิเลสมี ๓ ระดับ
ผู้ฟัง ที่ว่ามีกิเลส ๓ คือ กิเลสหยาบ กลาง อนุสัยกิเลส วีติกกมกิเลส เป็นกิเลสอย่างหยาบ หมายถึงศีล ๕ ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ล่วงเป็นทุจริตทางกาย ทางวาจา เพราะฉะนั้นถ้ากิเลสอยู่นิ่งๆ ในใจ ใครก็ไม่รู้ นั่งเฉยๆ ไม่มีใครวัดได้เลยว่า กิเลสของใครเท่าไร กี่กิโลกรัม หรือกี่ตัน ซึ่งมากกว่านั้นมาก เพราะว่ามันเบายิ่งกว่านั้น มันไม่มีวัตถุที่ตั้งที่จะไปวัดได้เลย
เพราะฉะนั้นเวลาที่เรามีกาย มีวาจา เป็นทวาร เป็นทางออกของกิเลส ถ้าเป็นคฤหัสถ์เราพูดตามสบาย จะล้อเล่น จะคุยสนุก จะเย้าแหย่อย่างไรก็ได้ แต่ให้ทราบว่า ขณะนั้นจิตเป็นอะไร เป็นทางออกของจิตซึ่งคิดในเรื่องที่จะพูด ถ้าจิตไม่คิดเรื่องนั้น ก็ไม่พูดเรื่องนั้น ใช่ไหมคะ แต่ทีนี้เวลาที่เกิดความสนุก ก็ทำให้มีวาจาอย่างนั้นออกมา นี่ก็ไม่ได้เบียดเบียนใคร แต่ก็แสดงให้เห็นว่า ตราบใดที่ยังไม่ล่วงเป็นทุจริตที่จะทำให้คนอื่นเดือดร้อน ตราบนั้นก็ยังเป็นปริยุฏฐานกิเลส เพราะเหตุว่าสนุกก็พูด ใช่ไหมคะ เล่าเรื่องขำขันคุยกันไป ก็เป็นปริยุฏฐานกิเลส เพราะเหตุว่าไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน แต่ขณะใดก็ตามที่มีเจตนาที่จะทำให้คนอื่นเดือดร้อนด้วยวาจา ขณะนั้นเป็นอกุศลกรรมทางใจ เพราะเหตุว่ามีเจตนาที่จะเบียดเบียนคนอื่นแล้ว
เพราะฉะนั้นวาจาก็เป็นทางออกของอกุศลอย่างหยาบที่ล่วงทุจริต เป็นทุจริตกรรม
ผู้ฟัง ที่อ่านมานี่ เขาบอกว่า กิเลสอย่างกลางเปรียบเหมือนนิวรณ์ ๕ คือ จะอยู่ที่ตัวเราเอง โดยที่ผู้อื่นไม่ล่วงรู้ นิวรณ์ ๕ เช่นพยาบาท เราพยาบาทก็ยังไม่มีใครทราบได้ หรือถีนมิทธะ หรือกามฉันทะ แล้วพอมาถึงอนุสัยกิเลส อันนี้ทั้งตัวเราเอง และผู้อื่นก็ไม่สามารถจะรู้ได้เลย นอกจากพระผู้มีพระภาคที่จะรู้อนุสัยกิเลส
เขากล่าวอย่างนี้ถูกไหมคะ
ท่านอาจารย์ มีชื่อนะคะ ซึ่งเราจะต้องแปลว่าอะไร ซึ่งบางคนใช้ชื่อแต่ไม่รู้หรอกว่า มันคืออะไร ระดับไหน แต่การศึกษาธรรมเป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจแม้แต่คำที่พระผู้มีพระภาคทรงใช้ อย่างคำว่า “อนุสัย” หรือ “อนุสยกิเลส” หมายความถึงกิเลสที่ยังไม่ได้ดับ ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับ อนุสัยกิเลสก็ยังมีอยู่ ไม่ใช่ว่าเราจะนอนหลับ ขณะนั้นเราไม่ใช่พระอรหันต์ เราไม่ใช่พระอริยบุคคล กิเลสก็ยังคงมีครบ แต่ถ้าเป็นพระอริยบุคคลแล้ว ดับอนุสัยกิเลส ซึ่งเหมือนเชื้อที่จะทำให้เกิดปริยุฏฐานกิเลส เพราะเหตุว่าคนที่ไม่มีเชื้อของอกุศลเลย ทำอย่างไรๆ อกุศลก็เกิดไม่ได้ เพราะเหตุว่าเขาดับเชื้อของอกุศลแล้ว แต่ถ้าเชื้อคืออนุสัยกิเลส ซึ่งเป็นกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตยังมีอยู่ตราบใด ในขณะที่นอนหลับ ทุกคนเหมือนกันหมด ผู้ร้ายหรือพระอรหันต์ไม่ได้ต่างกันเลย นอนนิ่งๆ ใครจะรู้ว่า ใครเป็นพระอรหันต์ ใครเป็นผู้ร้าย แต่ว่าพอตื่นขึ้นต่างกันแล้ว ใจของคนที่ตื่นที่เป็นพระอรหันต์ กับใจของผู้ร้ายที่ตื่นนี่ต่างกัน เพราะเหตุว่าพระอรหันต์ไม่ว่าจะเห็น ไม่ว่าจะได้ยิน ไม่ว่าจะคิดนึก ไม่มีกิเลสใดๆ เลย ไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศลทั้ง ๒ อย่าง แต่สำหรับคนที่ยังมีอนุสัยกิเลสอยู่ ทุกวันตื่นขึ้นมาไม่รู้ตัวแล้วว่า ไม่มีปริยุฏฐานกิเลสทันทีที่เห็น ไม่รู้สึกตัวเลยว่าติดแล้วในสิ่งที่ปรากฏ
เพราะฉะนั้นการจะดับกิเลสไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องของปัญญาจริงๆ ที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องเป็นลำดับว่า กิเลสของตัวเองมีมากแค่ไหน อย่างวันก่อนก็คุยกัน แล้วก็มีคนหนึ่งที่บอกว่า เขาต้องการปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์ของสังสารวัฏฏ์ เร็วเลยนะคะ ไปถึงการพ้นทุกข์ โดยที่ยังไม่รู้เลยว่า ทุกข์คืออะไร และทุกข์ที่ต้องการจะพ้น ทุกข์อะไร ไม่รู้จักทุกข์ แต่อยากพ้นทุกข์
เพราะฉะนั้นเราก็จะไม่เป็นผู้รีบร้อนทำอะไรโดยปราศจากปัญญา แต่หมายความว่า การศึกษาธรรม การฟังธรรม ให้ศึกษา ให้ฟัง ให้พิจารณาด้วยความเข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง และชื่อต่างๆ ที่เป็นภาษาบาลีก็เก็บเล็กประสมน้อยไป อย่างวันนี้ก็มีอนุสัยกิเลส มีปริยุฏฐานกิเลส มีวีติกกมกิเลส ก็ให้ทราบว่า ระดับของกิเลสต่างกัน กิเลสที่เป็นพืชเชื้อที่ยังไม่ได้ดับที่อยู่ในใจนั้น เป็นระดับอนุสัยกิเลส และถ้าตื่นขึ้นมาแล้ว เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง แต่ยังไม่ล่วงทุจริตกรรม นั่นก็เป็นปริยุฏฐานกิเลส แต่ถ้าล่วงทุจริตเมื่อไร เมื่อนั้นก็เป็นวีติกกมกิเลส
ก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ แล้วอย่างอนุสัยกิเลส ใครจะมาแสดงให้เรารู้ ถ้าไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกคนก็ไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่า จะดับอนุสัยกิเลสได้อย่างไร เพราะว่าทุกคนก็มีกิเลส และไม่ชอบกิเลสกันทั้งนั้น แต่ว่าไม่ชอบกิเลสของคนอื่น ถ้ากิเลสของตัวเองก็ไม่เคยเห็นเดือดร้อน จะโกรธสักเท่าไร จะริษยา ก็เรื่องของตัวเอง แต่พอคนอื่นโกรธ คนอื่นริษยา คนอื่นมีมานะ ไม่ชอบเลย ทำไมมีวาจาอย่างนั้น มีคำพูดอย่างนั้น ไม่น่าฟังอย่างนั้น
นี่แสดงให้เห็นว่า เรารังเกียจอกุศลจริงๆ หรือเปล่า หรือว่าไม่ชอบ ไม่ชอบเป็นโทสะ แต่ไม่ใช่การเห็นโทษหรือรังเกียจว่า เป็นสิ่งที่ไม่ดี
เพราะฉะนั้นการฟังธรรมก็ต้องฟังโดยความแยบคาย และละเอียดจริงๆ ไม่อย่างนั้นเราก็เอาความไม่ชอบเป็นความดีว่า เราไม่ชอบกิเลส แต่ความจริงไม่ชอบกิเลสนั้นเป็นอกุศล ไม่ใช่รังเกียจ เพราะเห็นว่า อกุศลนั้นเป็นสิ่งที่เป็นโทษเป็นภัย
ข้อสำคัญที่สุด ระวังอย่าสับสน ธรรมต้องค่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็พิจารณาให้ลึกๆ แล้วก็ให้เข้าใจชัดๆ จะได้ไม่ผิดพลาด