เกิดขึ้นเป็นไปเพราะกรรม
คุณหญิงณพรัตน์ ขอต่อจากที่ปฏิสนธิแล้ว กรรมนี้จะมาอยู่ที่ภวังค์ ที่เป็นตัวเราอยู่ตลอดเวลา อันนี้ยังไม่ค่อยเข้าใจ ขอกราบท่านอาจารย์ด้วยค่ะ
ท่านอาจารย์ ที่ว่าเป็นเรา เป็นนามธรรมกับเป็นรูปธรรม อย่าลืมว่าไม่ใช่นามธรรมอย่างเดียวหรือรูปธรรมอย่างเดียว มีทั้งนามธรรม และรูปธรรมที่เรายึดถือว่าเป็นตัวเรา ถ้าพูดถึงวิบากซึ่งเป็นผลของกรรม ถ้าใช้คำว่า “วิบาก” แล้วต้องเป็นจิต และเจตสิก ไม่ใช่รูป วิบากเป็นจิต และเจตสิก ไม่ใช่รูป รูปก็เป็นผลของกรรมด้วย
เพราะฉะนั้นกรรมให้ผล ๒ อย่าง คือ ทำให้นามธรรมเกิด และทำให้รูปธรรมเกิด ถ้าทำให้นามธรรมเกิดก็คือทำให้วิบากจิตเกิด ถ้าทำให้รูปเกิด ก็คือทำให้กัมมชรูปเกิด เพราะฉะนั้นกรรมทำให้นามรูปเกิดทั้ง ๒ อย่าง
ถ้าพูดถึงจิตแล้ว หลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว นี่พูดถึงฝ่ายนาม ไม่พูดถึงรูป ภวังคจิตเกิดเพราะว่ากรรมไม่ได้เพียงทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดเท่านั้น ขณะเดียวไม่พอที่จะเป็นผลของกรรม น้อยมากเลย ถ้ากรรมไหนทำให้เพียงปฏิสนธิจิตเกิด ก็หมดเรื่อง ก็แย่นะคะ แต่กรรมยังทำให้ภวังคจิตเกิดต่อจากปฏิสนธิจิต เป็นภวังค์เกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ แม้ในขณะนี้ที่เรานั่งอยู่ ระหว่างที่ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มีการคิดนึก ภวังคจิตเกิดดับสืบต่อดำรงความเป็นบุคคลนี้อยู่ตลอด
เพราะฉะนั้นภวังคจิตก็เหมือนกระแสน้ำ ซึ่งไหลอยู่ตลอดเวลา เกิดดับๆ ๆ จนกว่าจะมีอารมณ์กระทบตา วาระจิตที่เห็นก็เกิด จะเกิดโลภะ โทสะ โมหะ หรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วก็เป็นภวังค์ต่อไป แล้วก็เป็นภวังค์เกิดดับสืบต่อ จนกว่าจะถึงวาระที่เสียงกระทบหู ก็มีการได้ยิน ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ก็เป็นผลของกรรม
เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า กรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับไป แล้วกรรมก็ทำให้ภวังคจิตเกิดดำรงภพชาติสืบต่อจากปฏิสนธิ แล้วกรรมก็ทำให้มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แสดงว่าส่วนหนึ่งของชีวิต เราเกิดมาเป็นผลของกรรม เพราะเหตุว่าถ้าเราเกิดมาเป็นภวังคจิตอยู่เรื่อยๆ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่เดือดร้อนเลยใช่ไหมคะ เหมือนท่อนไม้ก็เหมือนค่ะ ขยับเขยื้อนก็ไม่ได้ ถ้าเป็นภวังคจิต จะลุกเดินไปไหนไม่ได้เลยทั้งสิ้น เหมือนคนที่นอนหลับสนิท นั่นคือภวังคจิต นอนนิ่งๆ ขยับเขยื้อนไม่ได้เลย จะมีการขยับเขยื้อนขณะใด ขณะนั้นไม่ใช่ภวังคจิต ให้ทราบได้เลยว่า ต้องเป็นการรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด อย่างเวลาที่ฝันร้าย อาจจะมีการร้องเสียงดัง หรือขยับมือขยับเท้า ขณะที่ฝันนั้นก็ไม่ใช่ภวังคจิต ถ้าเป็นภวังคจิต คือ ไม่มีการรู้อารมณ์อื่นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
เพราะฉะนั้นการที่เราจะรู้อารมณ์อื่นนอกจากภวังค์ ก็เพราะกรรมอีกนั่นแหละที่ทำให้เราต้องเห็นสิ่งนั้นบ้าง สิ่งนี้บ้าง แสดงให้เห็นว่า กรรมนี่มากมายเหลือเกิน กรรมที่ทำให้เกิดเป็นปฏิสนธิ เป็นผลของกรรมก็กรรมหนึ่ง และกรรมระหว่างที่เกิดมายังไม่ตาย ก็ทำให้เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง พวกนี้ ก็เป็นแต่ละกรรมๆ ซึ่งเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ขณะนี้เป็นผลของกรรมอะไร และต่อไปจะเป็นผลของกรรมอะไร แต่ให้ทราบว่า มีตาสำหรับเป็นผลของกรรม มีหูก็เป็นผลของกรรม มีจมูก มีลิ้น มีกาย พวกนี้เป็นผลของกรรมทั้งหมด เพื่อให้วิบากจิตเกิดขึ้นเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส