ที่เก็บกรรม


    คุณหญิงณพรัตน์ ที่บอกว่า “สถานที่เก็บกรรม” จากความรู้สึกของเราเหมือนกรรมลอยๆ อยู่ แต่ท่านอาจารย์บอกว่า มีสถานที่เก็บกรรม ยังไม่เข้าใจค่ะ

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว กรรมไม่ใช่รูปเลย จะลอยก็ไม่ได้แน่ แต่กรรมหมายความถึงการกระทำ การกระทำได้แก่เจตนา ภาษาไทยเราใช้คำว่า “เจด – ตะ – นา” แต่จริงๆ แล้วภาษาบาลีใช้คำว่า “เจ – ตะ – นา” เขียนเหมือนกัน แต่ภาษาบาลีไม่ได้อ่านว่า “เจด – ตะ –นา” เพราะว่าไม่ใช้ ตัว ต เป็นตัวสะกด อ่านว่า “เจ – ตะ – นา” หมายความถึงสภาพธรรมที่จงใจ ตั้งใจ

    เพราะฉะนั้นเจตนามี ๒ อย่าง จงใจ หรือตั้งใจที่เป็นกุศลอย่างหนึ่ง จงใจหรือตั้งใจที่เป็นอกุศลอย่างหนึ่ง อย่างเราตั้งใจจะถวายทาน ขณะนั้นเป็นกุศลเจตนา ตั้งใจสงเคราะห์คนพิการ คนไร้ญาติขาดมิตร คนป่วยต่างๆ คนขัดสน ขณะนั้นเป็นกุศลเจตนาทั้งสิ้น เพื่อให้คนอื่นได้รับประโยชน์สุข ขณะนั้นก็เป็นความจงใจ หรือเป็นความตั้งใจ เป็นนามธรรม เป็นเจตสิก ซึ่งเจตสิกตัวนี้ เจตนาเจตสิก ถ้าศึกษาโดยละเอียดแล้วจะทราบว่า เกิดกับจิตทุกขณะ

    เพราะฉะนั้นเจตนาที่เป็นกุศลก็มี เจตนาซึ่งเป็นอกุศลก็มี เจตนาที่เป็นวิบาก คือ เป็นผลของกุศลอกุศลก็มี เจตนาที่เป็นกิริยาก็มี เพราะฉะนั้นฐานะหรือสภาพของเจตนาจะต่างกันตามฐานะหรือสภาพของจิต ถ้าเจตนาที่เกิดกับจิตของพระอรหันต์ ท่านก็มีเจตนาแสดงธรรมสงเคราะห์คนอื่น สนทนาธรรม แต่เจตนานั้นเป็นกิริยา หมายความว่าไม่เป็นเหตุให้เกิดผล เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะเป็นฝ่ายดี ก็เป็นเจตนาที่เป็นเพียงกิริยา แต่ถ้าไม่ใช่พระอรหันต์แล้ว จะต้องมีเจตนาทั้งที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง วิบากบ้าง

    เวลานี้จิตมี เจตสิกก็มี ไม่ปรากฏรูปร่าง สีสันวัณณะ เสียง กลิ่น ให้รู้เลยว่า นี่เป็นจิต เพราะเหตุว่าเป็นแต่เพียงธาตุรู้ ถ้าใช้คำว่า “ธาตุรู้” ซึ่งเป็นนามธาตุ จะเห็นได้ว่า ต่างกับรูปธาตุ ถ้าเราจำแนกออก มีธาตุ ๒ อย่าง คือ รูปธาตุอย่างหนึ่ง นามธาตุอย่างหนึ่ง ถ้าเราสามารถเข้าใจความต่างกันของธาตุ ๒ ธาตุ จะทำให้เราเข้าใจชัดเจนถึงธรรมที่เป็นนามธรรม เพราะว่ารูปธาตุไม่ใช่สภาพรู้ แม้ว่าเราจะมองไม่เห็น อย่างเสียง เสียงนี่มีจริงๆ จะไปกระทบสัมผัสจับเสียงไม่ได้เลย แต่เสียงปรากฏทางหู ให้รู้ว่าสภาพหรือธาตุนี้มี ไม่ใช่เป็นของเลื่อนลอย ไม่ใช่เป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ แต่สิ่งที่มีนี้ก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เท่านั้นเอง แล้วเป็นธาตุฝ่ายรูปธาตุด้วย เพราะเหตุว่าไม่ใช่สภาพรู้

    นี่ต้องแยกแม้แต่ความหมายของคำว่า นามธาตุกับรูปธาตุ โดยศัพท์จริงๆ ว่า ถ้าเป็นรูปธาตุแล้วไม่ใช่ธาตุที่รู้อารมณ์ หรือรู้อะไร แต่ถ้าเป็นนามธาตุที่เกิดดับแล้ว ได้แก่จิต และเจตสิก เพราะฉะนั้นเจตนา ความจงใจ ก็เหมือนกับจิตซึ่งเป็นนามธาตุ ไม่มีรูปร่าง ไม่มีลักษณะ ไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นความจงใจ ตั้งใจเป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเป็นอนันตรปัจจัย ทันทีที่จิต และเจตสิกดับจะเป็นปัจจัยให้จิต และเจตสิกขณะต่อไปเกิด

    เพราะฉะนั้นเจตนา คือ กรรม การกระทำที่ดับไปแล้วก็สืบต่อสะสมในจิตขณะต่อไปที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้การกระทำใดๆ ทั้งหมดที่ได้ผ่านไปแล้ว ก็สะสมสืบต่ออยู่ในจิตแต่ละขณะ ซึ่งก็เกิดดับสืบต่อกัน จึงกล่าวว่าเป็นที่เก็บที่นิรภัยที่สุด คือ ไม่มีอะไรที่จะไปแตะต้อง แดดลมอะไรก็ไปแผ้วพานไม่ได้เลย เพราะเก็บอยู่ที่จิตชั่วขณะที่เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับเร็วเกินกว่าที่ใครจะไปกระทบสัมผัสได้ทั้งสิ้น และถึงจะกระทบสัมผัสก็ไม่ได้อยู่ดี เพราะเหตุว่าเป็นนามธรรม จึงกล่าวว่าเป็นที่เก็บที่ปลอดภัยที่สุด

    คุณหญิง จิตทุกๆ ขณะเป็นกรรม

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดเลยค่ะ สืบต่อจากขณะหนึ่งไปอีกขณะหนึ่ง

    คุณหญิง เป็นปัจจัยต่อกันไปเรื่อยๆ หรือคะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ต่อกันไปเรื่อยๆ ไม่สูญหายเลย เพราะฉะนั้นพร้อมที่สุกงอมเมื่อไร ให้ผลเมื่อนั้น ทำให้วิบากจิตเกิดได้ทั้งนั้นเลย เหมือนต้นไม้ที่มีลูก บางลูกก็อ่อน บางลูกก็แก่ แล้วแต่ลูกไหนจะให้ผลเมื่อไร ฉันใด กรรมที่สะสมไว้ในใจก็แล้วแต่ว่าพร้อมสุกงอมเมื่อไรที่จะให้ผล ก็ทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น

    คุณหญิง คืองงๆ คล้ายกับจิตดวงเดียวเก็บไว้ได้อย่างไร แต่เป็นปัจจัยที่ต่อกันไป

    ท่านอาจารย์ เกิดดับค่ะ เกิดดับสืบต่อกันค่ะ เพราะฉะนั้นก็แลกกรรมกันไม่ได้เลย ส่งทางไปรษณีย์ก็ไม่ได้ เพราะว่าแต่ละคนก็มีจิตของตัวเอง ซึ่งเกิดดับสืบต่อสิ่งที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัย


    หมายเลข 8212
    24 ส.ค. 2567