ปัญญาต้องรู้ว่า...ไม่รู้อะไร


    ผู้ฟัง การศึกษาในพระพุทธศาสนาเท่าที่ผมสังเกตแล้ว ถ้าเรามีความเข้าใจโดยการศึกษาก่อน ก็จะนำไปสู่การคิด การพิจารณา แต่โดยปกติแล้ว ชีวิตของเราอยู่กับความคิดตลอดเวลาเลย เพราะฉะนั้นสังเกตดูว่า เวลาที่บอกว่าสติระลึก มักจะคิดมากกว่าระลึก ผมไม่ทราบว่า ท่านอื่นๆ จะเป็นอย่างนี้หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ต้องรีบระลึกก็ได้นะคะ เอาเข้าใจค่ะ เพราะว่าโดยมากถ้าไปที่อื่นก็จะบอกให้ทำสติ ให้นั่ง ให้รู้ ให้ได้ ให้ประจักษ์การเกิดดับ หรืออะไรอย่างนั้น แต่นั่นไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย เพราะเหตุว่าคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นไปตามลำดับขั้น คือ ขั้นฟัง ฟังให้เข้าใจเสียก่อน ให้เข้าใจจริงๆ และให้เข้าใจความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทั้งหมด สัพเพ ธัมมา อนัตตา นี่ไม่เว้นเลย ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาสภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดได้ ไม่มีใครสามารถสร้างหรือทำให้สภาวธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้นได้

    สิ่งที่เราเคยยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นใจเรา ไม่ใช่ของเราเลย แต่เพราะความไม่รู้จึงคิดว่าเป็นของเรา ใจเราทำไมบังคับไม่ได้ บังคับให้ฉลาด ให้มีสติ ให้มีปัญญา ก็บังคับไม่ได้หมด บังคับให้ได้ยินแต่เสียงชมหรือเสียงเพราะก็บังคับไม่ได้ บังคับให้คิดนึกในทางกุศล อย่าโกรธ อย่าโลภ อย่ามานะ อย่าริษยา ก็บังคับไม่ได้

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่มีทางเลยที่จะมีอัตตาที่จะไปบังคับสภาพธรรมที่เป็นอนัตตาได้ มีทางเดียวคือต้องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างตามความเป็นจริง เช่น อวิชชา ได้ยินบ่อยนะคะ เป็นสภาพที่ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ หรือธรรมตามความเป็นจริง บางแห่งจะใช้คำว่า “โมหะ” หลงที่นี่ คือไม่รู้ความจริงนั่นเอง

    เพราะฉะนั้นเราศึกษาธรรมแล้ว ไม่ต้องไปหาธรรมที่อื่น ที่ตัวเอง มีธรรมทุกอย่างพร้อมที่จะให้พิสูจน์ พร้อมที่จะให้รู้จักตัวเองดีขึ้น ยังไม่ต้องไปนั่งทำอะไร จะประจักษ์การเกิดดับ ได้ญาณ ได้อะไร ไม่ต้องทั้งหมด เพียงให้รู้จักตัวจริงของธรรมว่า ไม่ใช่อยู่ที่อื่น อยู่ที่ตัวทุกอย่างที่ทรงแสดงไว้

    เพราะฉะนั้นแม้อวิชชา ใครจะมาบอกเราว่า เรามีปัญญามาก ใครรู้คะว่า แต่ละคนมีปัญญาแค่ไหน ถ้าเป็นคนที่ไม่รู้จักธรรม ก็อาจจะดีใจ มีคนชมว่ามีปัญญามาก แต่ถ้าถามเขา คนที่ชมเราว่า ปัญญาคืออะไร ปัญญารู้อะไร ตอบได้ไหมคะที่จะมาชมกันว่า คนนั้นมีปัญญามาก เพราะเขาไม่รู้เลยว่า ปัญญานั้นตรงกันข้ามกับอวิชชา อวิชชาไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ทุกอย่างเป็นธรรม ใครรู้ลักษณะที่แท้จริงของธรรมเหล่านั้นบ้าง ถ้าขณะใดที่รู้ หมายความว่าเป็นปัญญาที่รู้ ไม่ใช่เรา ปัญญาก็ไม่ใช่เราอีก ไม่มีอะไรที่ต้องมาตื่นเต้นชื่นชมยินดี เพราะเหตุว่าเป็นเพียงธาตุรู้ ธาตุที่เข้าใจถูก เห็นถูกที่อาศัยการฟัง การพิจารณา แล้วก็ค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้น เข้าใจขึ้นแล้วก็ดับ ก็ไม่มีของใครเลย แม้แต่ปัญญาก็ไม่ใช่ของเรา อวิชชา ความไม่รู้ ก็ไม่ใช่ของเรา ปัญญาก็ไม่ใช่ของเรา

    เพราะฉะนั้นคนที่ศึกษาธรรมด้วยความจริงใจ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ คือ ไม่ใช่เพื่อเหตุอื่นเลยสักอย่างเดียว ไม่ใช่เพื่อให้คนชมว่าเก่ง ไม่ใช่เพื่อลาภ สักการะ หรือไม่ใช่ด้วยความเป็นตัวตน ผู้นั้นจะรู้เลยว่า ศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจถูกในสิ่งซึ่งไม่เคยเข้าใจ หรือในสิ่งซึ่งเข้าใจผิด ในสิ่งซึ่งไม่รู้ให้เป็นความรู้ขึ้น

    นี่คือประโยชน์สูงสุด จากอยู่ในโลกด้วยความไม่รู้สู่โลกด้วยการเกิดปัญญาจริงๆ ที่รู้จักสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้นปัญญาในพระพุทธศาสนาไม่ใช่ปัญญาที่ออกไปนอกโลก สร้างสิ่งต่างๆ ที่วิจิตรพิสดารขึ้น นั่นโมหะ และโลภะ ไม่ใช่ปัญญา ตราบใดที่คนนั้นไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็นธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน และไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลด้วย

    เพราะฉะนั้นทุกคนที่ได้เริ่มฟังธรรมแล้วเข้าใจ ก็จะรู้จักสภาพธรรมทุกอย่างที่จะได้ฟังต่อๆ ไปขึ้น ด้วยตัวของตัวเอง เช่น อวิชชา ความไม่รู้ เวลานี้ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ไม่รู้อะไรบ้าง ใช่ไหมคะ มากมายค่ะ เพราะฉะนั้นจะเอาออกหมดได้ไหมคะ จะไปนั่งอะไรทำอะไรให้หมดกิเลส เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ตราบใดที่อวิชชายังมากมาย และอวิชชาไม่รู้อะไรที่ว่ามากมาย

    ผู้ฟัง ไม่รู้ธรรมตามความเป็นจริงขณะนี้

    ท่านอาจารย์ ที่กำลังปรากฏค่ะ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นี่คือความไม่รู้นะคะและถ้าเป็นความรู้ละคะ จะรู้อะไร

    ผู้ฟัง ก็ตอบไม่ได้อีก

    ท่านอาจารย์ นี่เราจะค่อยๆ เข้าใจด้วยตัวของเราเองจริงๆ คือคำถามจะทำให้เราเข้าใจตัวเราว่า รู้แค่ไหน รู้จริงไหม รู้อะไรบ้าง รู้ตื้นๆ รู้ลึกๆ รู้ละเอียด หรือยังไม่ละเอียด

    เพราะฉะนั้นถ้าถามคำแรกว่า ไม่รู้อะไร ก็ตอบได้ว่า ไม่รู้สิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เพราะฉะนั้นถ้าเปลี่ยนคำถามว่า แล้วปัญญารู้อะไร

    ผู้ฟัง สภาพธรรมที่เป็นจริงขณะนี้

    ท่านอาจารย์ อวิชชาไม่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ วิชชาก็รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามความเป็นจริงนั่นเอง

    เพราะฉะนั้นอวิชชากับวิชชา ตรงกันข้ามกัน ขณะใดที่วิชชาเกิด คือ ความรู้เกิด ขณะนั้นจะไม่ใช่ความไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏ แต่ขณะใดที่วิชชาไม่เกิด จะบอกว่ารู้แล้วได้ไหมคะ ไม่ได้ ก็ยังคงไม่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นเอง


    หมายเลข 8220
    24 ส.ค. 2567