รูปไม่ใช่สภาพที่สั่งสม
ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า จิตเกิดแล้วก็ดับ เป็นปัจจัยให้จิตดวงอื่นเกิดต่อ แต่สำหรับรูปไม่ใช่อย่างนั้น ใช่ไหมคะ ไม่ทำให้เกิดต่ออย่างไรคะ
ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจเรื่องของปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิกซึ่งเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ และจะเห็นความต่างกัน แยกขาดจากกันจริงๆ ว่า รูปธรรมนั้นไม่ใช่สภาพรู้ ที่ตัวของเราส่วนใดก็ตามที่เป็นรูปธรรม สิ่งนั้นจะไม่รู้อะไรเลย กระทบสัมผัสตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน บางขณะก็ตึงหรือไหว ลักษณะที่อ่อนหรือแข็งนั้น ไม่ใช่สภาพรู้ แต่นั่นเป็นรูปธรรม และส่วนนามธรรมก็ไม่ใช่รูปธรรม โดยประการใดๆ ทั้งสิ้น แยกขาดออกจากกันว่า นามธรรมนั้นเป็นแต่เพียงธาตุรู้หรือสภาพรู้ ไม่ใช่รูปเลย แล้วถึงจะรู้สมุฏฐานของนามธรรม และรู้สมุฏฐาน ที่เกิดของรูปธรรมว่าต่างกัน เพราะเหตุว่าสภาพรู้หรือธาตุรู้ เป็นนามธาตุ เป็นธาตุชนิดหนึ่ง
ถ้าเราใช้คำตามภาษาวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่คำว่า “ธรรม” แต่ใช้คำว่า “ธาตุ” หรือ “ธา – ตุ” ซึ่งคนฟังก็รู้สึกว่า เข้าใจโดยวิธีนั้น แต่ความจริงแล้วเข้าใจเพียงลักษณะของรูปธาตุ ซึ่งไม่ใช่สภาพรู้เลย จะแยกเป็นกี่ธาตุก็ตาม รูปธาตุทั้งหมดไม่ใช่สภาพรู้ แต่ในทางธรรม หรือสภาวธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่มีแต่รูปธาตุ นามธาตุคือธาตุอีกชนิดหนึ่ง อย่าลืมนะคะ ธาตุเป็นธาตุนั่นเอง แต่เป็นธาตุอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งธาตุนี้เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพที่รู้สิ่งที่ปรากฏให้รู้ ไม่ว่าจะเป็นทางหนึ่งทางใด ทางตามีอะไรปรากฏ ธาตุชนิดนี้ซึ่งเป็นธาตุรู้ คือนามธาตุ ก็รู้สิ่งนั้น คือ เห็นสิ่งนั้น ที่เห็นสิ่งนั้น คือ ธาตุรู้ นามธาตุ ทางหู นามธาตุเป็นธาตุรู้เสียง เสียงไม่รู้อะไรเลย แต่ธาตุรู้เสียงมี ใช้คำว่า โสตวิญญาณธาตุ เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ถ้าเราจะแยกวัตถุที่เป็นอัญมณีออกเป็นประเภทต่างๆ เราก็จะเห็นว่า เพชรก็ไม่ใช่พลอย แต่ละชนิดไป
เพราะฉะนั้นนามธาตุแต่ละชนิดก็เป็นแต่ละอย่าง จักขุวิญญาณธาตุ เป็นธาตุที่เฉพาะเห็นสี หรือสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น จะไปปะปนกับโสตวิญญาณธาตุ ซึ่งเป็นธาตุรู้เสียงไม่ได้เลย คนละธาตุ คนละชนิด คนละประเภท
เพราะฉะนั้นนามธาตุก็แยกออกไปเป็นส่วนต่างๆ ธาตุต่างๆ แต่เป็นนามธาตุ คือ เป็นธาตุรู้ เพราะฉะนั้นธาตุรู้ก็ได้แก่ จิต และเจตสิก เราจะใช้คำหลายๆ คำ เพื่อให้เข้าใจว่า คำไหนที่เราเข้าใจได้ อย่างคำว่า “จิต” ทุกคนเข้าใจได้ ก็ใช้คำนี้ แต่ขยายความให้รู้ว่า ที่จิตก็คือสภาพรู้หรือธาตุรู้นั่นเอง เป็นนามธรรม ซึ่งธาตุชนิดนี้เป็นปัจจัย ในเมื่อเราพูดถึงสภาพธรรมที่มีจริงว่า ได้แก่ ปรมัตถธรรม ๔ คือ ๑. จิต ๒. เจตสิก ๓. รูป ๔. นิพพาน นิพพานธาตุ เวลานี้ไม่ต้องพูดถึงเลย เพราะเหตุว่าปัญญาขั้นโลกุตตระเท่านั้น เจริญอบรมจนถึงขั้นที่พ้นจากการรู้โลก คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหล่านี้ สมบูรณ์ถึงขั้นที่ประจักษ์ลักษณะของนิพพานธาตุเมื่อไร ก็สามารถมีนิพพานธาตุเป็นอารมณ์ คือรู้แจ้งในนิพพานธาตุเมื่อนั้น
เพราะฉะนั้นเวลานี้ก็กล่าวเฉพาะปรมัตถธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก รูป แล้วก็แยกออกเป็นรูปธรรม คือ รูปธาตุ ได้แก่รูปทุกชนิด ส่วนนามธรรมหรือนามธาตุนั้น ได้แก่จิต และเจตสิก ซึ่งเกิดขึ้น และเป็นสภาพรู้ ธาตุชนิดนี้เป็นธาตุรู้ เกิดขึ้นขณะใดต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏให้รู้ จะไม่รู้ไม่ได้ แต่รู้ในที่นี่ไม่ใช่ปัญญา
เพราะฉะนั้นธาตุชนิดนี้เป็นปัจจัย พอเราพูดถึงสภาพธรรมที่เกิด เราจะขาดคำว่าปัจจัยไม่ได้เลย หมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ต้องมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งทำให้เกิดขึ้น และในเมื่อปรมัตถธรรมมีเพียง ๓ ที่เกิดขึ้น ยกนิพพานไว้ไม่กล่าวถึงนะคะ จิต เจตสิก รูป ก็ต่างเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น ถ้าไม่มีจิต เจตสิกก็เกิดไม่ได้ และรูปเองก็เป็นปัจจัยให้เกิดรูปด้วย หรือรูปเป็นปัจจัยให้เกิดจิตได้ โดยปัจจัยต่างๆ และจิตก็เป็นปัจจัยให้เกิดรูปด้วย
เพราะฉะนั้นทั้ง ๓ ธาตุ หรือสภาวธรรมต่างก็เป็นปัจจัยซึ่งกัน และกัน ซึ่งจะต้องศึกษาโดยละเอียด แต่ขั้นต้นให้ทราบว่า เกี่ยวข้องกันทั้งหมดไม่ว่าจะพูดเรื่องสภาพธรรม ไม่ว่าจะพูดเรื่องปัจจัยก็คือสิ่งที่มีจริงๆ และถ้าใช้คำว่า “เกิดขึ้น” เราก็ต้องคิดถึงหรือเข้าใจถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้นด้วย
สำหรับจิตที่เป็นนามธาตุเป็นปัจจัยชนิดหนึ่ง ซึ่งทันทีที่ดับลง เป็นอนันตรปัจจัยทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น จนกว่าจะถึงจุติจิตของพระอรหันต์ ซึ่งไม่เป็นอนันตรปัจจัย
เพราะฉะนั้นใครจะบอกว่า จิตหยุดเกิด ไม่มีทางค่ะ ทันทีเดี๋ยวนี้ให้ตายลงไปก็ยังต้องเกิดอีก เมื่อมีปัจจัย คือยังมีกิเลสอยู่ ตราบใดที่ไม่ใช่จุติจิตของพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นจิต และเจตสิกขณะนี้ที่เกิดเป็นอนันตรปัจจัย คือ เมื่อดับแล้วทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น
นี่คือความต่างกันของนามธาตุกับรูปธาตุ ซึ่งนามธาตุนั้นเป็นอนันตรปัจจัยให้จิต และเจตสิกขณะต่อไปเกิด แต่รูปไม่ใช่สภาพรู้ ไม่มีการสะสมอย่างจิต ไม่มีการสั่งสมเลยที่จะให้เป็นโลภะ โทสะ โมหะ ไม่ใช่เรื่องของรูปเลย รูปเกิดขึ้นเพราะสมุฏฐาน ๔ อย่าง คือ กรรมเป็นสมุฏฐานให้รูปเกิดอย่างหนึ่ง จิตเป็นสมุฏฐานให้รูปเกิดอีกสมุฏฐานหนึ่ง อุตุ คือ ความเย็นความร้อน เป็นสมุฏฐานให้รูปเกิดอีกอย่างหนึ่ง และอาหารที่รับประทานเป็นคำๆ เป็นสมุฏฐานให้รูปเกิดอีกอย่างหนึ่ง
รูปมีสมุฏฐาน ๔ อย่าง แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้ง ๔ อย่างเป็นสมุฏฐานให้รูปๆ หนึ่งเกิด รูปประเภทหนึ่ง ชนิดหนึ่งจะเกิดเพราะสมุฏฐานหนึ่งเท่านั้น รูปใดเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน รูปนั้นมีกรรมเป็นสมุฏฐานอย่างเดียว ไม่มีจิตเป็นสมุฏฐาน ไม่มีอุตุเป็นสมุฏฐาน ไม่มีอาหารเป็นสมุฏฐาน และรูปใดซึ่งมีจิตเป็นสมุฏฐาน รูปนั้นก็ไม่ใช่มีกรรม ไม่ใช่มีอุตุ ไม่ใช่มีอาหารเป็นสมุฏฐาน
นี่คือลักษณะที่ต่างกันของนามธาตุกับรูปธาตุ เพราะฉะนั้นก็จะต้องทราบว่า สำหรับจิต และเจตสิกนั้นเป็นอนันตรปัจจัย เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเมื่อดับไปแล้ว เป็นปัจจัยทำให้จิต เจตสิกขณะต่อไปเกิดขึ้น