ธรรมเป็นเรื่องเข้าใจ ไม่ใช่เรื่องทำ


    ผู้ฟัง สติเป็นสิ่งที่เกิดยาก แต่ความคิดเกิดเป็นประจำตลอดเวลา ทีนี้ถ้าเราจะสังเกตว่า ขณะใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าปรากฏแล้วไม่ใช่เป็นลักษณะใดลักษณะหนึ่งตามที่เราได้ศึกษามา ก็แสดงว่าขณะนั้นสติไม่เกิด มีแต่ความคิดที่เราคิดถึงสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ เราไม่ต้องทำอะไรเลย นอกจากฟังพระธรรมแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    คุณศุกล เวลานี้ก็ฟังแล้ว และยอมรับว่าเข้าใจแล้วด้วย

    ท่านอาจารย์ เข้าใจขึ้นอีก ไม่ใช่อยู่กับที่

    คุณศุกล ทีนี้ก็เป็นความต้องการอีกเหมือนกันว่า สิ่งที่เราฟังมา ศึกษามา ก็มีการสังเกตอยู่บ้างว่า ถ้าขณะใดสติไม่เกิด สิ่งที่ปรากฏทางทวารทั้ง ๕ จะไม่มีลักษณะปรากฏ ก็คงเป็นชื่อหรือเป็นเรื่องเป็นราวทั้งหมด ก็เป็นอย่างนี้ไปตลอดทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นธรรมเครื่องเนิ่นช้า แสดงไว้ว่า โลภะ อย่างหนึ่ง เป็นธรรมเครื่องเนิ่นช้า ไม่เห็นจำเป็นต้องต้องการอะไรเลย ต้องการอะไรนักหนา ในเมื่อทางตายังไม่รู้ ก็ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ทางหู ยังไม่รู้ ก็ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จะหวังอะไรเกินกว่านี้

    คุณศุกล ความก้าวหน้าครับ

    ท่านอาจารย์ ความก้าวหน้าก็คือค่อยๆ เข้าใจขึ้น นี่คือความก้าวหน้าค่ะ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น นี่คือความก้าวหน้า

    คุณศุกล ก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อยแล้วครับ แต่ก็ยังไม่พอใจ

    ท่านอาจารย์ นั่นคืออะไร นั่นไม่ใช่ความก้าวหน้า นั่นคือการถอยหลัง เพราะว่าไม่พอใจ หรือมีความต้องการอย่างอื่น ซึ่งไม่ใช่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ถ้าเป็นความค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็เป็นที่ถูกต้อง แต่ถ้าต้องการมากกว่านี้ นั่นไม่ใช่หนทางที่จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    คุณศุกล ไหนๆ พูดถึงเรื่องปรมัตถธรรมแล้ว ถ้าไม่พูดถึงเรื่องการปฏิบัติเสียเลย ก็เหมือนกับขาดอะไรไปอย่างหนึ่ง จริงไหมครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าคิดว่าจะทำซิคะ ไม่ได้คิดว่าจะเข้าใจ ที่เรามาฟังที่นี่ เพื่อจะเข้าใจ ใช่ไหมคะ

    คุณศุกล แล้วคำว่า “มิจฉาปฏิปทา” คือ ข้อปฏิบัติที่ผิดจากการเจริญมรรค ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่ไม่ทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้

    คุณศุกล ถ้าอย่างนั้นต้องทิ้งคำว่า “ปฏิบัติ” ไปได้เลยหรือครับ

    ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ

    คุณศุกล ต่อไปนี้ไม่ต้องใช้แล้ว ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องสนใจด้วยซ้ำไป

    คุณศุกล แล้วจะให้สนใจเรื่องอะไรครับ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตั้งเข็มใหม่ค่ะ ไม่ต้องไปทำอะไรทั้งหมด ค่อยๆ ฟังให้เข้าใจ และรู้ตัวเองว่า ลักษณะของสภาพธรรมนี่ไม่ได้อยู่ในหนังสือ ไม่ใช่เรื่องราว แต่มีจริงๆ กำลังเผชิญหน้าทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่เพียงเข้าใจเรื่อง

    นี่คือการปฏิบัติธรรม ไม่ต้องไปนั่งทำอะไร หรือคิดว่าจะปฏิบัติ ขณะที่กำลังค่อยๆ เข้าใจขึ้นนั่นคือการปฏิบัติธรรม ธรรมกำลังปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม สมควรแก่ธรรม คือ สมควรแก่การเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ถ้าไม่มีใครพูดเรื่องปฏิบัติ สนใจเรื่องปฏิบัติหรือเปล่าคะ ถ้าไม่มีใครพูดคำนี้เลย จะสนใจไหมคะเรื่องปฏิบัติ

    คุณศุกล สำหรับผมยังไม่มีคำตอบครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่นะคะ เห็นถามบ่อยๆ มาทีไรก็เรื่องปฏิบัติทุกที เพราะได้ยินได้ฟังมาใช่ไหมคะ ทีนี้ถ้าเราไม่ได้ยินได้ฟังเลย เราก็ไม่ต้องไปสนใจ แต่เรามีความเข้าใจในพระธรรม แล้วค่อยๆ เข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมขึ้น เพราะทราบว่า ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ทรงแสดงเรื่องของสิ่งที่มีจริงๆ ให้ปัญญาของเรารู้สิ่งที่มีจริงๆ โดยอาศัยการฟัง แล้วค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

    นี่คือการปฏิบัติธรรม ซึ่งไม่ต้องไปทำอะไรอย่างที่คิดว่า ฟังแล้วต้องปฏิบัตินะคะ


    หมายเลข 8228
    24 ส.ค. 2567