สติเกิด - หลงลืมสติ ๑


    ผู้ฟัง ปัจจัยของการมีสติ และปัจจัยของการหลงลืมสติคืออะไร เพราะคิดว่าตัวเองมีสติอยู่ตลอด หรือว่าตัวเองหลงลืมสติตลอด ก็คงไม่ถูกต้องนะครับ ที่ผมเข้าใจอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ คือจริงๆ แล้วต้องเข้าใจว่า การศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจธรรม เรายังไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องสติ เพราะว่าถ้าศึกษาโดยละเอียด สติเกิดกับกุศลจิตทุกประเภท แม้แต่ที่มานั่งนี่ และมีศรัทธาที่จะฟังธรรมเกิดเมื่อไร ขณะนั้นก็ต้องมีสติเกิดแล้ว แต่ไม่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างได้ ถ้าไม่ใช่สติปัฏฐาน

    เพราะฉะนั้นสติก็มีหลายระดับ ถ้าสติขั้นทาน ขณะใดที่เราให้ทาน เป็นไปในการให้วัตถุเพื่อเป็นประโยชน์แก่คนอื่น ขณะนั้นไม่มีตัวตน เพราะว่าในพระพุทธศาสนาไม่มีตัวตน แต่มีสภาพธรรมฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่ว ถ้าขณะที่ธรรมฝ่ายดีเกิด ความประพฤติก็เป็นไปทางกาย ทางวาจา ใจที่ดี ดังนั้นขณะที่ให้ทาน หรือขณะที่มีศรัทธาจะฟังธรรม ก็มีสติ และมีโสภณเจตสิกอื่นๆ เกิดด้วย ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ตัตรมัชฌัตตตา ถ้าศึกษาต่อไปก็เยอะ แต่ว่าเราไม่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด เพราะเหตุว่าสภาพธรรมตามความเป็นจริงมีจริงๆ มีปัจจัยทำให้เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้นด้วย ใครก็บังคับบัญชาหรือเปลี่ยนแปลง ไม่ได้ อย่างเสียงมีปัจจัยก็เกิดเป็นเสียงนี้ แล้วก็เป็นเสียงอื่น มีตั้งหลายเสียง เพราะฉะนั้นแต่ละอย่างที่จะเกิด ก็มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิด สั้นมาก เร็วมาก หมด

    เพราะฉะนั้นยากที่จะมีการระลึกลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดดับ แต่ว่าเราไม่ต้องไปคำนึงถึงว่า เกิดไปแล้ว ดับไปแล้ว หมดไปแล้ว ไม่กลับมาอีก ไม่มีอะไรเหลือ เพราะเหตุว่ามีสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดสืบต่ออยู่เรื่อยๆ พร้อมที่จะให้มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ฟังเพื่อให้เข้าใจขึ้นๆ และรู้ว่า ความเข้าใจธรรมมีหลายระดับ ขั้นฟังเข้าใจว่า ขณะนี้กำลังฟังเรื่องของธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แล้วไม่เคยเข้าใจถูกเลย อย่างทางตาที่กำลังเห็นก็มี ทางหูก็เป็นธรรม ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายเป็นธรรมทั้งหมด

    นี่ขั้นฟัง แล้วขั้นพิจารณาเริ่มจะเข้าใจ แต่ไม่ใช่เรารู้จักธรรม เพราะว่าตัวธรรมจริงๆ ต่อให้กำลังปรากฏอยู่ก็ไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือเสียง หรือความคิดนึกทั้งหมดที่มี จนกว่าความเข้าใจของเราจะเพิ่มขึ้น

    เพราะฉะนั้นยังไม่ต้องไปคำนึงถึงเรื่องสติปัฏฐาน แต่ให้คำนึงถึงว่า เราฟังธรรม เรามีความเข้าใจเรื่องตัวธรรมที่กำลังปรากฏมากน้อยแค่ไหน เพิ่มขึ้น และเมื่อเพิ่มขึ้นแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้สัมมาสติเกิดระลึก เพราะว่าฟังแล้ว รู้แล้วว่ามีจริงๆ และไม่ใช่ตัวตน และมีลักษณะเฉพาะอย่างที่เป็นวิเสสลักษณะ เช่น เสียง ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่อ่อนหรือแข็ง

    เพราะฉะนั้นธรรมแต่ละอย่างก็มีลักษณะเฉพาะของธรรมนั้นๆ ซึ่งถ้าปัญญาจะเกิด สติจะเกิด จะระลึก ก็คือเข้าใจลักษณะของธรรมว่าเป็นธรรมขึ้น พ้นจากการเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นเรา เป็นเขา เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ แท้ที่จริงแล้วลักษณะก็เป็นสภาพธรรมเท่านั้น

    ฟังเพื่อให้เข้าใจความจริง จนเวลาที่สติเกิดระลึกก็เห็นความเป็นธรรมของสิ่งที่มีตามปกติที่เคยเป็น แต่ว่าตามปกติของเรา เป็นความเข้าใจผิด ความเห็นผิด การหลงลืมสติ คือ แม้แต่ฟังก็ฟังเรื่องราว แต่เวลาที่จะมีความเข้าใจขึ้นในลักษณะของสภาพธรรม ต้องอาศัยสติปัฏฐานเท่านั้น ที่จะเกิดแล้วก็ระลึก ซึ่งก็ไม่มีใครไปเร่งรัดให้สติปัฏฐานเกิดได้ อยากให้สติปัฏฐานเกิดมากๆ ก็ผิด คือ ตัวอยากจะเข้ามาแทน ทำให้ไขว้เขวไป เพราะว่ามีเรา มีความรักตน มีความอยากให้ตัว จากไม่ดีก็ดีขึ้น จากดีแล้วก็ให้มีปัญญา มีปัญญาแล้วก็มีให้มากขึ้น คือ มีแต่ตัวอยากที่จะนำ

    เพราะฉะนั้นการที่อริยสัจ ๔ เห็นยาก ก็เพราะเหตุว่าจะต้องเห็นทั้ง ๔ อริยสัจจะ โดยสัจญาณ หมายความว่า ฟัง พิจารณา เข้าใจว่าเป็นความจริง ซึ่งไม่มีใครไปสร้าง ไปบังคับ ไปพยายาม ไปอยากได้ แต่ว่าสภาพธรรมทุกอย่างในขณะนี้ เกิดเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น ตามปัจจัยที่เกิดทำให้เป็นอย่างนี้


    หมายเลข 8229
    24 ส.ค. 2567