สติเกิด - หลงลืมสติ ๒


    เพราะฉะนั้นการฟังที่ละเอียดขึ้น เข้าใจละเอียดขึ้น จะทำให้มีการระลึกลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งเมื่อไรซึ่งสัมมาสติเกิด เมื่อนั้นก็จะเห็นความต่างของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด

    เพราะฉะนั้นเรื่องสติปัฏฐาน อย่าเพิ่งคิดว่าจะปฏิบัติ หรือจะทำ เพียงสนใจศึกษาให้เข้าใจสติปัฏฐานเพิ่มขึ้นให้ถูกต้อง จะทำให้รู้ว่า ขณะไหนที่สติเกิดกับหลงลืมสติ เพราะว่าสภาพธรรมไม่เปลี่ยนเลย แต่เวลาที่สติปัฏฐานไม่เกิด ก็ผ่านไป ดับไป โดยไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น แต่เวลาที่สภาพธรรมเกิด จะเหมือนเดิม คือ เป็นปกติ

    บางทีท่านก็ใช้คำหลายคำ อนุเคราะห์ให้เราเห็นให้ถูกต้อง เช่นคำว่า “อนุปัสสนา” “อนุ” แปลว่า ตาม เห็นตาม ไม่ใช่ไปทำขึ้น สภาพธรรมขณะนี้มีปรากฏ เห็นตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดแล้วปรากฏ เพราะฉะนั้นก็จะไม่มีเราที่พยายามไปสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น แต่กลับระลึกลักษณะที่กำลังมีตามปกติ

    ถ้าเป็นการศึกษาก็จะทราบว่า อย่างแข็ง ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏทางกายทวาร หรือกายปสาท คือ ที่ตัวจะมีรูป เป็นรูปที่มีลักษณะพิเศษที่สามารถกระทบกับสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว เย็นหรือร้อน นี่เป็นลักษณะของรูปนี้ที่สามารถกระทบได้ เพราะฉะนั้นขณะนี้ที่มีแข็งปรากฏ เพราะมีกายปสาทเป็นกายทวาร

    นี่คือสิ่งที่ใครจะไปบังคับไม่ให้เกิดไม่ได้ เดี๋ยวนี้มีแล้ว ความจริงเป็นอย่างนี้ แต่ต้องรู้ว่า สภาพธรรมทุกอย่างมีจริงเมื่อปรากฏ หรือปรากฏเมื่อเกิด ถ้าไม่เกิดก็จะปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่กำลังปรากฏ หมายความว่าเกิดจึงได้ปรากฏ และถ้าคิดพิจารณาให้ลึกซึ้ง ให้เข้าใจจริงๆ เมื่อกี้นี้ไม่มี ต้องมีขณะที่สภาพธรรมไม่ได้ปรากฏ แล้วเกิดปรากฏขึ้น เช่น เสียง เมื่อกี้นี้ไม่มี และมีเสียงเกิดขึ้นปรากฏ แล้วเสียงก็หมดไป

    ฟังแค่นี้ก็รู้แค่นี้ แต่ถ้าศึกษาต่อไป แล้วก็พิจารณาถึงขณะที่ไม่มี เช่น ขณะที่เป็นภวังค์ ตอนหลับจะเห็นได้ชัดกว่าตอนนี้ เพราะว่าตอนหลับ อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏเลย แต่พอตื่น ถ้าเสียงปรากฏ ก็หมายความว่า ขณะนั้นไม่ใช่หลับ จากที่ไม่เคยมีอะไรปรากฏเลย แล้วก็เกิดมีปรากฏ ถ้าเป็นเรา เป็นชีวิตประจำวัน ไม่น่าอัศจรรย์ แต่ถ้าพิจารณาว่าเป็นธาตุ หรือเป็นธรรม เสียงนี่มีจริงๆ เป็นธาตุชนิดหนึ่งมีลักษณะที่ดังกระทบกับโสตปสาท เสียงมีได้อย่างไร แค่นี้ก็น่าอัศจรรย์แล้ว จากการที่ไม่มีเสียงเลย แล้วก็เสียงมี ตัวเสียงเองก็เกิดจากการกระทบกันของสิ่งที่แข็ง แต่เสียงที่เกิดจากการกระทบกันของสิ่งที่แข็ง ถ้าไม่ปรากฏ เสียงนั้นก็ดับแล้ว ไม่ว่าจะเสียงที่ถนน เสียงในป่า เสียงในครัว เสียงในห้อง เสียงที่ไหนก็ตามแต่ มีเหตุปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ ถ้าจิตไม่รู้ เสียงนั้นเกิดแล้วดับแล้ว

    เพราะฉะนั้นไม่ได้มีความหมายหรือความสำคัญอะไรเลย ทุกอย่างต้องเกิด ต้องเป็นอย่างนั้น ที่เสียงเกิดแล้วจะไม่ดับ เป็นไปไม่ได้ และถ้าไม่มีจิตได้ยิน ก็ไม่มีทางที่จะรู้เสียงนั้นเลย เพราะฉะนั้นเสียงนั้นจะมีในป่า หรือไม่มีในป่า จะมีในครัว หรือไม่มีในครัว จะมีที่โน้น หรือไม่มีที่โน้น ก็ไม่สามารถรู้ได้ เพราะเกิดแล้วดับแล้ว

    เพราะฉะนั้นขณะที่เสียงกำลังปรากฏ ความน่าอัศจรรย์ก็คือว่า แม้เสียงก็น่าอัศจรรย์ และที่จะมีสภาพที่ได้ยินเสียงจากที่ไม่ได้ยิน และมีธาตุที่เกิดได้ยินเสียงขึ้น

    นี่ก็เป็นการไตร่ตรอง แล้วเราจะเข้าใจความหมายของคำว่า “อายตนะ” ซึ่งก่อนนั้นก็อยู่ในหนังสือ แต่ขณะที่มีการเกิดของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดโดยฐานะที่เป็นธาตุ ก็สามารถจะเข้าใจในธาตุทั้งหมดที่มีอยู่ตรงนั้นได้ เช่น ธาตุรู้หรือสภาพรู้ ซึ่งได้ยินเสียง ถ้าธาตุนี้ไม่เกิด เสียงจะปรากฏไม่ได้ และการที่ธาตุได้ยินจะเกิดขึ้นได้ยินเสียง ไม่ใช่ว่าถ้าไม่มีหู โสตปสาท แล้วธาตุได้ยินจะเกิดได้

    เพราะฉะนั้นทุกขณะที่เกิดปรากฏ ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยมาก และปรากฏสั้นมาก แล้วก็ดับไป ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตาว่า เราจะต้องมีความเข้าใจความเป็นอนัตตาตั้งแต่ขั้นการฟัง โดยไม่ต้องไปห่วงสติปัฏฐานเลย แต่เมื่อใดก็ตามที่มีการระลึกสิ่งที่มีอยู่แล้ว คือ อนุปัสสนา คือ ระลึกตามสิ่งที่กำลังมี กำลังปรากฏ เช่นแข็งขณะนี้ มีการระลึกรู้ลักษณะที่แข็ง ถ้าโดยการศึกษาปริยัติ เราทราบว่า ต้องมีกายทวารวิถีจิต คือ จิตที่อาศัยกายปสาทเป็นทวาร ทำให้กำลังรู้สิ่งที่แข็ง นี่ทางกายทวารวิถี ซึ่งก็ดับ จิตที่รู้แข็งก็ดับ ลักษณะของแข็งก็ดับ ต่อจากนั้นเป็นภวังค์ แล้วตามปกติทางใจจะรู้ต่อ ขณะนี้มีทั้งทางกายทวาร และทางมโนทวาร โดยที่ทางกายทวารก็ดับไป ภวังค์ก็คั่น ทางมโนทวารก็รู้ต่อ

    ปกติเวลาที่สติปัฏฐานไม่เกิด เราก็รู้เป็นเรื่องราว เรากำลังกระทบสัมผัสพรม หรือช้อนส้อม แก้วน้ำ ในชีวิตประจำวัน เรารู้โดยไม่ต้องเรียกชื่อ แต่ว่ามีการรู้ความหมายของสิ่งที่ปรากฏทางทวารนั้นๆ แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิด ก็ไม่ต่างกับการแข็งหรืออ่อน หรือเย็นหรือร้อน ตามปกติ แต่ไม่ได้นึกเป็นอย่างที่เราเคย เป็นช้อน เป็นส้อม อย่างที่เราเห็นปุ๊บ รู้ปั๊บทันที แต่ขณะนั้นกำลังใส่ใจลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง ตรงนั้นคือ อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา เพราะว่าไม่มีอะไรจะละเอียดเท่ากับสภาพธรรม คือ จิต เจตสิก รูป


    หมายเลข 8230
    24 ส.ค. 2567