สติเกิด - หลงลืมสติ ๓
เพราะฉะนั้นขณะนั้นที่เป็นอินทรียสังวร รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตรงนั้น ขณะนั้นเป็นอธิศีล ไม่ว่าจะจิตจะเกิดยินดี ยินร้าย ชอบใจ ไม่ชอบใจ สามารถรู้ได้ในความเป็นนามธรรม ซึ่งปกติเราจะไม่รู้ว่า พอลืมตาขึ้นมาเราก็มีโลภะ ติดข้องแล้ว เราจะเอื้อมมือไปด้วยความต้องการ เราก็ไม่เคยรู้ลักษณะของความติดข้องที่ทำให้มีการไหวของกายไป แต่อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขากำลังเริ่มเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เหมือนปกติธรรมดา แล้วก็ดับ แล้วก็มีสภาพธรรมปรากฏทางกายทวาร ภวังค์คั่นมโนทวาร เพราะฉะนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก ซึ่งไม่ต้องคำนึงถึง เพียงแต่รู้ว่า ขณะนั้นสติระลึก เพราะฉะนั้นขณะที่ใส่ใจในลักษณะนั้น คือ สติปัฏฐานที่กำลังศึกษาลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ขณะนั้น ชั่วขณะที่สั้นมาก
เพราะฉะนั้นก็จะเข้าใจได้ว่า ปัญญาที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม ไม่ใช่ตอนฟัง ตอนฟังนั้นรู้เรื่องราว ทั้งๆ ที่ตัวสภาพธรรมก็กำลังปรากฏ แข็งก็มี เห็นก็มี เสียงก็มี แต่เมื่อสติไม่ได้ระลึกกำลังฟังเรื่องราว จนกว่าเมื่อไรที่สติระลึก คือ ใส่ใจลักษณะนั้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละน้อยซึ่งนานมาก เพราะเหตุว่าสติก็ดับอย่างรวดเร็ว แต่ความเข้าใจนิดหนึ่งว่า ขณะนั้นไม่ใช่หลงลืมสติ ก็ประกอบด้วยปัญญาที่รู้ความต่างของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ต้องมีสภาพธรรมที่สติกำลังระลึก นั่นคือปัฏฐาน ที่ตั้งของสติ และตัวสติที่ระลึกก็เป็นสติปัฏฐาน และสติปัฏฐานนี้ก็เป็นหนทางที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอริยบุคคลทุกท่านเดิน
ความหมายของธรรมที่เราได้ยินได้ฟังทั้งหมดก็อยู่ตรงนั้น มีความเข้าใจชัดเจนในสิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง แล้วความเข้าใจธรรมทั้งหมดที่เรียนมาก็จะเพิ่มความเข้าใจเมื่อสติเกิด และระลึกลักษณะของสภาพธรรม แต่ต้องช้ามาก และต้องเป็นความเข้าใจจริงๆ
เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับความเข้าใจ แม้สติปัฏฐานจะเกิด ก็ไม่ใช่อยากอีก แต่ต้องเป็นความเข้าใจชัดในอริยมรรคหรืออริยสัจ ๔ ว่า ทุกข์ คือ สภาพธรรมที่เกิดดับซึ่งยังไม่ได้ประจักษ์ทันทีที่สติระลึก แต่โดยการศึกษาต้องเกิดต้องดับ แต่ปัญญายังไม่สมบูรณ์ก็ไม่สามารถประจักษ์ได้ แต่ถ้าขณะใดที่ไม่มีการระลึก หมดหนทางที่จะรู้การเกิดดับ เพราะฉะนั้นจึงรู้ว่า ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลทุกท่านต้องระลึกรู้ ต้องอบรมสติปัฏฐานซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งปกติมีองค์ ๕ เพราะว่าไม่มีวิรตี ๓ และก็มีความเข้าใจมั่นคงขึ้น และก็รู้ว่า โลภะเป็นสมุทัย ถ้าตราบใดที่ยังมีโลภะ ไม่มีทางถึงนิโรธสัจจะได้ เพราะโลภะแทรกเข้ามาอีก โดยการที่ต้องการให้สติเกิด
เพราะฉะนั้นก็จะเห็นการเป็นผู้ฉลาดที่จะต้องฟังด้วยดี ต้องพิจารณาโดยละเอียด ซึ่งขณะที่กำลังฟังด้วยดี เข้าใจละเอียดขึ้นจะละโลภะ ความต้องการ เพราะว่าไม่มีอะไรจะละโลภะได้ นอกจากความเข้าใจถูกเพิ่มขึ้น และก็รู้ว่า ไม่มีหนทางที่ความเป็นตัวตนจะไปทำให้เกิดปัญญาขึ้นมาได้ จะไปนั่ง จะไปเดิน จะไปทำอะไรด้วยความต้องการ ไม่ใช่หนทางทั้งหมด แต่หนทางคือศึกษาให้เข้าใจขึ้น ซึ่งอริยสัจก็มี ๓ รอบ คือ สัจญาณ กิจญาณ กตญาณ เพราะฉะนั้นทั้ง ๓ จะประคับประคองไปตลอด แม้ว่าสติปัฏฐานเกิดแล้วก็ยังต้องรู้ความจริงว่า ถ้ามีโลภะขณะไหน ไม่ใช่หนทาง ต้องรู้ทันที และก็กลับมาที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม แต่ไม่ใช่ด้วยความเป็นตัวตน
เพราะฉะนั้นจะเห็นความเป็นตัวตนว่ายากมาก แล้วปัญญาก็ต้องฟังอย่างละเอียด แล้วรู้เข้าใจถูกว่า ตัวตนตรงไหน และดำเนินหนทางนั้นไปด้วยความเบาสบายที่รู้ว่า เป็นระยะทางที่ไกล แต่ต้องไปด้วยความเห็นถูก เพราะเมื่อมีความเห็นถูก ก็ต้องนำไปสู่สิ่งที่ถูกขึ้น แต่ถ้ามีความเห็นผิด ก็ต้องนำไปสู่ความเข้าใจผิด ถ้ามีโลภะ โลภะก็พาไปด้วยความต้องการทันที ไปไกลมากจนบางคนก็เข้าใจว่า รู้แจ้งอริยสัจธรรม
เพราะฉะนั้นมรรค ๘ ซึ่งเป็นหนทางผิด ก็มีทั้งรู้ผิด และพ้นผิด เพราะเข้าใจว่าพ้นแล้ว เพราะรู้แล้ว แต่ความจริงไม่ได้รู้ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ กำลังเห็นขณะนี้จะคลายความยึดถือว่าเป็นตัวตน ต่อเมื่อปัญญาระดับไหน สติปัฏฐานเริ่มเกิดอย่างไร ทั้งๆ ที่กำลังเห็นก็สามารถจะรู้ความต่างของการที่เริ่มค่อยๆ เข้าใจว่า ขณะนี้เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยรู้ แต่เพราะความเข้าใจค่อยๆ มั่นคงขึ้น ขณะเห็นก็รู้ว่า ชั่วขณะที่ลืมตา หรือสิ่งนี้ปรากฏ ต่อจากนั้นก็เป็นเรื่องของความคิดมากมายมหาศาลต่อกันไปเลยทางมโนทวาร
เพราะฉะนั้นการฟังเรื่องสติปัฏฐาน ก็เป็นเรื่องที่ฟังแล้วเข้าใจความละเอียด แล้วก็รู้ว่า เป็นหนทางที่จะต้องอบรมที่ต้องรู้จริงๆ เข้าใจถูกจริงๆ