พ้นวิสัยที่ใครจะทำให้เกิดขึ้น
ผู้ฟัง ผมคิดว่า ผมยังไม่เข้าใจเรื่องของอนัตตา อยากจะฟังคำอธิบายอีกสักนิดหนึ่งครับ
ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นทุกเรื่องที่พูดต้องเข้าใจว่า หมายความว่าอะไร
เพราะฉะนั้น “อนัตตา” ก็หมายความถึงไม่ใช่อัตตา “อัตตา” คือ ตน ตัวตนของเรา อนัตตาก็คือสภาพธรรมที่มีจริงๆ แต่ไม่ใช่ของใครเลยสักคน เราไม่เคยคิดว่า ธาตุนั้นเป็นเรา หรือธรรมก็เป็นธรรม แต่พอไม่รู้จักความหมายของคำ ๒ คำนี้จริงๆ ทุกอย่างก็เป็นเรา แม้แต่เป็นธรรมหรือเป็นธาตุก็ยังเป็นเรา ด้วยการเห็นผิด ด้วยการเคยทรงจำไว้ แต่ว่าตามความเป็นจริงถ้าคิดถึงธาตุ หรือธรรม จะเห็นความไม่เป็นตัวตนแน่นอน อย่างได้ยิน ถ้ารู้ว่าเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ โต๊ะ เก้าอี้ ไม่มีจิต ไม่มีธาตุรู้ หรือสภาพรู้ แข็งก็ไม่ใช่สภาพรู้หรือธาตุรู้
เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะรู้อะไรไม่ได้ แต่เวลาที่มีธาตุอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่แข็ง ไม่ใช่สี ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส ถ้าพูดถึงความเป็นธาตุ ไม่มีใครบังคับบัญชาได้เลย ถ้าพูดถึงแข็ง คงไม่มีใครบอกว่า อย่าให้แข็งเกิด ถ้าพูดถึงเสียง ก็คงไม่มีใครบอกว่า อย่าให้เสียงเกิด เมื่อมีปัจจัยเสียงก็เกิด ใช่ไหมคะ ห้ามเสียงไม่ให้เกิดไม่ได้ เพราะเป็นธาตุหรือเป็นธรรม
ถ้าเข้าใจความหมายของ “ธาตุ” หรือ “ธรรม” ก็คือพ้นวิสัยที่ใครจะเป็นเจ้าของ หรือจะสร้าง หรือจะทำให้เกิดขึ้น แต่สิ่งนั้นมีปัจจัยจึงได้เกิดขึ้น โดยมากเราเข้าใจแค่รูปธาตุ แต่แม้นามก็เป็นธาตุด้วย คือ เมื่อมีปัจจัยก็เกิด แต่ว่าต่างกับรูป ธาตุชนิดนี้ต่างกับรูป คือ เมื่อเกิดแล้วต้องรู้ เพราะเป็นสภาพรู้ ธาตุเค็ม ธาตุหวาน ธาตุโกรธ เป็นธาตุหมด เพราะฉะนั้นธาตุรู้ เมื่อเกิดขึ้นก็ต้องรู้ แค่นี้ก็จะเห็นความเป็นสาธารณะว่า ธาตุเป็นธาตุ ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงลักษณะของธาตุนั้นได้ เมื่อเป็นธาตุรู้ก็ต้องเกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด
เพราะฉะนั้นขณะนี้ใช้คำว่า จักขุวิญญาณธาตุ คือ ธาตุเห็น ต้องอาศัยจักขุปสาทกับรูปที่กระทบทางตา ธาตุชนิดนี้จึงเกิด พอเป็นธาตุชนิดนี้จึงเกิด ใครจะไปทำอะไรให้ธาตุชนิดนี้ไม่เกิด ในเมื่อจักขุปสาทมี สิ่งกระทบทางตามี สภาพเห็นหรือธาตุเห็นก็ต้องเกิด เป็นธาตุ
ทางหู เสียงมี แต่ถ้าไม่มีธาตุได้ยินเสียง เสียงก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นเสียงเองก็ไม่รู้ เพราะว่าเป็นรูปธาตุ ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย แต่ธาตุอีกชนิดหนึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องรู้ เพราะฉะนั้นการกระทบกันของโสตปสาทธาตุกับสัททธาตุ คือ เสียง ก็ทำให้เกิดธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นได้ยินเสียง แล้วก็ดับ
เพราะฉะนั้นทุกอย่างก็เกิด เกิด เกิดตามปัจจัย แล้วแต่ว่าจะเป็นรูปธาตุ หรือจะเป็นนามธาตุ
เวลานี้เราคิดว่าเราได้ยิน แมวได้ยินไหมคะ สุนัขได้ยินไหม ถ้าเอารูปร่างออก ได้ยินเหมือนกันไหมคะ คือ เป็นธาตุได้ยินเสียง
เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจจริงๆ ว่า เป็นธาตุ ทั้งนามธาตุ ทั้งรูปธาตุ นั่นคือความหมายของอนัตตา ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ถ้าเราศึกษาโดยละเอียด จะรู้ว่า รูปแต่ละกลาปที่เล็กที่สุด ที่มีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ทุกกลาป บางกลาปเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน เจตนา ความจงใจ ความตั้งใจเกิดกับจิต ดับกับจิต แต่สะสมอยู่ในจิต พร้อมที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดเมื่อไรก็ได้ เช่น คนที่ไม่มีโรค และเกิดเป็นโรคร้ายขึ้นมา ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากกรรม ใครก็ไปทำอะไรไม่ได้เพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เป็นนามธรรมก็จริง แต่มีพลัง มีกำลัง ที่จะเป็นปัจจัยให้รูปใดเกิดเมื่อไร ก็เกิดรูปนั้นเมื่อนั้น แม้แต่จักขุปสาท ประสาทตา ประสาทหู ประสาทจมูก ประสาทลิ้น ประสาทกายทั้งหมด เป็นรูปที่เกิดจากกรรม ถ้ากรรมหยุดไม่ให้รูปนี้เกิด ใครก็จะไปทำให้รูปนี้เกิดไม่ได้ และถ้ากรรมมีปัจจัยทำให้เกิด ใครก็จะไปทำลายไม่ได้ เพราะว่าเกิดแล้วดับ จะทันทำลายอะไรได้กับสภาพที่มีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจความหมายของความเป็นธรรม ความเป็นธาตุจริงๆ เอาสิ่งที่มารวมกันออกเป็นแต่ละหน่วยเล็กๆ แล้วก็รู้ที่มาที่ไปของสิ่งนั้นว่า สิ่งนี้เกิดเพราะอะไร เกิดแล้วก็ดับไปๆ ตัวเราอยู่ที่ไหน ก็ไม่มีค่ะ แต่ต้องเป็นปัญญาระดับไหน ที่จะเห็นจริงๆ อย่างนี้ ที่จะละสักกายทิฏฐิ คือ การยึดถือรูปธรรมนามธรรมตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าว่า เป็นเราออกได้ ต้องเป็นปัญญามหาศาลอย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อจะตรัสรู้ความจริงซึ่งเป็นจริงอย่างนี้ค่ะ เมื่อตรัสรู้แล้วก็ทรงแสดงหลากหลาย ๔๕ พรรษา ด้วยประการทั้งปวง ด้วยนัยทั้งปวง ให้คนที่ฟังจากที่ไม่เคยรู้เลย ไม่เคยเข้าใจเลย ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ อบรม ค่อยๆ มีปัญญา เป็นกัปๆ กว่าจะได้รู้ เพราะถ้าอ่านประวัติของพระสาวกแต่ละท่าน แสนกัปก็มี ไม่ใช่แสนชาติ
เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องของจริง ที่มีจริง แต่ต้องด้วยปัญญา จึงสามารถที่จะรู้ได้ เพราะสภาพธรรมเหล่านี้จะปรากฏต่อปัญญา จากการเริ่มเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะสามารถประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมนั้นได้
เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องของความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรม และพระธรรมที่ทรงแสดงเพื่อละ ละอะไร ละความเห็นผิด จากการไม่เคยฟัง และละอะไร ละกิเลสต่อไปเรื่อยๆ ตามลำดับจนหมดไม่เกิดอีกเลย
กิเลสที่ทุกคนมีมากๆ อย่างโลภะ ละยากเหลือเกิน เพราะเหตุว่าไม่มีปัญญา ใช่ไหมคะ อยากจะละก็ละไม่ได้ ดอกไม้สวย อาหารอร่อย ทุกสิ่งทุกอย่าง รู้ว่าเป็นความติดข้อง และความติดข้องนำมาซึ่งทุกข์โทษ ทรงแสดงไว้มากมาย แต่ถ้าปัญญาไม่เกิด อะไรจะไปละ นอกจากตัวเราอยากจะละ ทำละ แต่จริงๆ แล้วละไม่ได้ เพราะไม่ใช่ปัญญา
เพราะฉะนั้นถ้าไม่ใช่หนทางซึ่งมีทางเดียวจริงๆ คือ การอบรมเจริญปัญญาด้วยสติปัฏฐานซึ่งเป็นการเจริญมรรคที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม หนทางอื่นไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ เพราะความจริงสภาพธรรมเป็นอย่างนี้ ต้องฟังให้เข้าใจอย่างนี้ ต้องรู้ว่าต้องอบรมอย่างนี้ ต้องรู้ถูกต้องอย่างนี้ จึงจะเป็นความเห็นถูก
เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นความเห็นถูกที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นไปเรื่อยๆ