หนักอกหนักใจ
ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์เคยกล่าวว่า ศึกษาธรรมต้องเบา คือหมายความว่าไม่ต้องไปแบกหรือหนักอกหนักใจอะไร ที่มันหนักเพราะเป็นโลภะใช่ไหมครับ
พระศุภกร ที่กล่าวว่า “โลภะเห็นยาก เพราะเป็นธรรมที่ลึกซึ้ง” ใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ อริยสัจ ๔ นะคะ ๒ อริยสัจแรก ลึกซึ้งจึงเห็นยาก และ ๒ อริยสัจหลัง เห็นยากเพราะลึกซึ้ง ไม่ใช่มีอยู่เหมือนอย่างทุกขสัจ ใช่ไหมคะ ขณะนี้ก็มีการเกิด การดับ แต่ว่าลึกซึ้งจึงเห็นยาก ที่จะเห็นว่าเกิดดับ แต่สำหรับมรรคไม่ได้มีให้เห็นอยู่ตลอด จึงเห็นยากเพราะลึกซึ้ง
พระศุภกร โลภะก็
ท่านอาจารย์ ลึกซึ้งจึงเห็นยาก
พระศุภกร เพราะฉะนั้นใครที่บอกว่า รู้จักโลภะ ก็ยังไม่ใช่
ท่านอาจารย์ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด นี่ไม่มีทางเลย เพียงแค่ตื่นมาลืมตา ทั้งหมดเลย ทั้งตา ทั้งหู ทั้งจมูก ทั้งลิ้น ทั้งกาย ทั้งใจ แม้แต่ตายแล้ว พอปฏิสนธิจิตเกิด ชวนวิถีแรกคือโลภะ
พระศุภกร ที่ยกปัญหานี้ขึ้นมาก็เพราะเหตุว่าเมื่อมีการศึกษาข้อความในอริยสัจ ๔ ว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ อันนั้นก็พอเป็นพอไป แต่พอมาถึงตัณหาเป็นสิ่งที่พึงละ ก็เลยปัญหาว่า จะละตัณหาอย่างไร สำหรับคนที่เจริญสติปัฏฐานที่เริ่มเข้าใจ หรือมีการศึกษาเรื่องสติปัฏฐาน ก็เกิดสงสัยว่า จะละโลภะจะละอย่างไร และจะละเมื่อไร
ท่านอาจารย์ ปัญญาเป็นความเห็นถูก ถ้าไม่เห็นโลภะ ละไม่ได้เลย ธรรมดามีใครเห็นโลภะวันนี้บ้าง ถ้าเห็นก็เป็นเรา ใช่ไหมคะ พอสนุกสนานก็บอกว่าโลภะ แต่ใครล่ะที่พูดคำว่า “โลภะ” ก็คือเรา เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่เห็นโลภะจริงๆ เลย
เพราะฉะนั้นเมื่อมีปัญญา เวลาที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมนี่คือ รู้ทุกข์ โดยที่ทุกข์ยังไม่ได้ปรากฏ แต่หมายความว่าเริ่มจะรู้ว่า นี่แหละคือทุกข์ คือ สภาพธรรมที่เกิดดับ แม้จะยังไม่ประจักษ์ แต่รู้ว่า สิ่งที่มีจริงๆ นี้เกิด แล้วก็ดับ จนกว่าปัญญาจะประจักษ์แจ้ง ถ้ามีความต้องการเกิดขึ้นแม้นิด ขณะนั้นก็เห็นโลภะแล้ว เพราะเวลาที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมยากที่โลภะจะไม่ตามมา เวลาที่ปัญญายังไม่เพิ่มขึ้น
พระศุภกร ที่เป็นปัญหาก็เพราะเหตุว่า พอบอกให้ละโลภะ ก็มีการออกบวช ออกบวชเป็นการละโลภะ เพราะคิดว่านั่นเป็นการละโลภะ คือ ไม่เกี่ยวข้องกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหมือนอย่างชีวิตคฤหัสถ์ เมื่อมีการชักจูงอุบาสกอุบาสิกาให้มาปฏิบัติธรรม อาศัยความเข้าใจว่า ตัวเองรู้ว่า โลภะต้องละ เพราะฉะนั้นเมื่อมีการรณรงค์ให้มีการปฏิบัติธรรม จึงต้องนุ่งขาวห่มขาว แล้วสมาทานศีล ๘ ถึงจะได้ชื่อว่า ละโลภะ
ถ้าไม่พบข้อความที่ว่า “โลภะเป็นสิ่งที่รู้ยาก เพราะลึกซึ้ง” เมื่อข้อความนี้ไม่มีการพูดถึงเลย ดูแต่เฉพาะพระพุทธพจน์โดยตรงว่า “โลภะเป็นสิ่งที่ควรละ” ละโดยการสมาทานศีล ๘ เป็นเวลา ๓ วัน ๗ วัน นี่พูดถึงอุบาสกอุบาสิกาเพื่อจะปฏิบัติธรรม เพราะปฏิบัติธรรมต้องละโลภะ ด้วยการนุ่งขาวห่มขาวแล้วมาใช้ชีวิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับความสนุกสนานทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ถ้าเป็นพระก็จะต้องเข้าป่า ไปตามถ้ำ ตามเขาเพื่อจะละโลภะ ความเข้าใจว่า ละโลภะแบบนี้ ก็ไม่ตรงกับการละโลภะที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎก
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่พระพุทธศาสนา เพราะว่า “พุทธะ” แปลว่า รู้ หรือปัญญา “ศาสนา” คือ คำสอนของผู้รู้ ผู้ตรัสรู้ พุทธะทั้งหมดต้องเป็นปัญญา พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ใครไม่รู้ สอนให้โง่ ไม่ใช่อย่างนั้นเลยนะคะ ถ้าเป็นพุทธศาสนิกชน ฟังพระธรรมเพื่อเข้าใจ จุดประสงค์ของการฟังเพื่อเข้าใจ เพราะฉะนั้นเมื่อมีการฟังเข้าใจ ความเข้าใจนั้นคือปัญญา พระพุทธศาสนาจะช่วยให้พุทธศาสนิกชนค่อยๆ มีความเห็นถูกขึ้น จึงจะเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และปัญญาที่เป็นความเห็นถูกจะละความเห็นผิด และจะค่อยๆ ละอกุศลอื่นตามกำลังของปัญญา แต่ต้องนำด้วยปัญญา ต้องเป็นปัญญา ถ้าคำสอนใดไม่ทำให้เกิดความเข้าใจ คำสอนนั้นจะไม่ใช่พระพุทธศาสนา