รู้,,,แต่ยังเป็นเรา
ผู้ฟัง สมมติขณะที่เรารู้ว่า มีโลภะเกิด เราไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพนามธรรมอย่างหนึ่ง เพราะขณะที่เรารู้ว่า โลภะเกิดนั้นเป็นเรื่องราวไปแล้วหรือเปล่าครับ
ท่านอาจารย์ ถึงไม่เป็นเรื่องราว โลภะก็เกิดได้ เพราะฉะนั้นโลภะเกิดได้ทั้ง ๖ ทาง ทางปัญจทวาร กำลังเห็น ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร ก็มีความติดข้องได้ ทางหู เพียงเสียงปรากฏ ไม่รู้ว่าเสียงอะไร ความหมายว่าอะไร ก็ติดข้องได้
ผู้ฟัง จะติดข้องอย่างไรครับ เมื่อยังไม่รู้
ท่านอาจารย์ ชอบค่ะ ติดข้องคือชอบ พอใจ โดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
ผู้ฟัง แล้วเราพอจะแยกความแตกต่างระหว่างเมื่อเราเห็นแล้วเราไม่ชอบ ก็คงจะเป็นโทสะ ไม่ใช่โลภะ
ท่านอาจารย์ ก็เป็นโทสะ ไม่ใช่โลภะ
ผู้ฟัง ก็รู้ความแตกต่างเท่านั้นเอง เราก็รู้ว่าเกิดมีอยู่ และแยกความแตกต่างได้
ท่านอาจารย์ ขณะที่โทสะเกิด ทุกคนก็ไม่ชอบเลย ขณะนั้นไม่สบายใจ บางครั้งก็เสียใจ น้ำตาไหล ร้องไห้ นี่เป็นลักษณะที่ไม่พอใจในสิ่งนั้น แต่ว่าจะโดยอาการโกรธเกรี้ยว หรืออาการเสียใจ น้อยใจก็แล้วแต่ ความรู้สึกไม่สบายใจเกิดขึ้นกับจิตที่เกิดร่วมกับโทสะ แต่โลภะ มีลักษณะตรงกันข้าม ทุกคนก็รู้ เพราะฉะนั้นมีสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่ใช่ไม่รู้ค่ะ แต่เป็นเราทั้งหมด
นี่เป็นความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยว่า เป็นเรา เป็นตัวตน สภาพธรรมมี ใครเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมไม่ได้เลย จะให้โทสะเปลี่ยนไปเป็นโลภะก็ไม่ได้ จะให้โลภะไปเป็นโมหะก็ไม่ได้ แต่ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะก็เป็นเรา เพราะความไม่รู้
ผู้ฟัง ถ้าเกิดเป็นเราด้วยความรู้ จะเป็นไปได้ไหมครับ
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ค่ะ ถ้าด้วยความรู้ ก็คือว่าขณะใดที่กุศลจิตประเภททาน ศีล ภาวนาประเภทสมถะเกิดยังเป็นเราอยู่ แต่เป็นกุศล อย่างความเมตตาเกิด กรุณาเกิด ช่วยเหลือคนอื่นที่กำลังทุกข์ยาก แต่ก็เป็นเรา แม้ว่าขณะนั้นเป็นกุศล
ผู้ฟัง ขณะที่ระลึกสภาพที่เป็นนามธรรม กับขณะที่ระลึกว่านี่เป็นโลภะ เป็นขณะเดียวกันได้ไหมครับ หรือว่าต้องเป็นคนละขณะ
ท่านอาจารย์ โลภะนั่นแหละเป็นนามธรรม ไม่ใช่แยกว่า โลภะเป็นอย่างหนึ่ง นามธรรมเป็นอย่างหนึ่ง แต่รู้ลักษณะที่เป็นความติดข้องว่า เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง และลักษณะของโลภะก็ไม่ใช่รูปธรรมอยู่แล้ว ลักษณะจริงๆ ไม่ใช่สี ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส เป็นสภาพติดข้อง เป็นสภาพเพลิดเพลิน ลักษณะเป็นนามธรรมอยู่แล้ว แต่เคยเป็นเราเพลิดเพลิน เราติดข้อง เราสนุก ก็รู้ความจริงว่า แม้ขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง
ผู้ฟัง คือระลึก ๒ ลักษณะควบกันไปเลย
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ ไม่ใช่เลย ระลึกลักษณะนั้นแล้ว รู้ในความเป็นนามธรรมของลักษณะนั้น เพราะแต่ก่อนนี้เคยเป็นเรา เวลาโทสะเกิดเป็นเราหรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็นครับ
ท่านอาจารย์ แต่เวลาที่สติระลึก ลักษณะนั่นแหละเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง การเป็นสภาพธรรมนั่นคือไม่ใช่เรา
ผู้ฟัง ถ้าเผื่อเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง
ท่านอาจารย์ ก็เข้าใจในความเป็นธรรม ไม่ว่าจะโลภะ โทสะ หรืออะไรก็ตามแต่ ก็รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นธรรม
ผู้ฟัง แล้วต้องเข้าใจอีกด้วยไหมครับว่า แตกต่างจากรูปธรรมอย่างไร
ท่านอาจารย์ ก็ต่างอยู่แล้วนี่ค่ะ ทั้งหมดเป็นธรรม
ผู้ฟัง จะต้องเข้าใจนี่ เข้าใจนี่ และต้องเข้าใจนี่อีกในเวลาเดียวกัน
ท่านอาจารย์ ความต่างมีอยู่แล้ว แต่ความเป็นเราติดหมด เพราะฉะนั้นก็เอาความเป็นเราออกจากทุกอย่าง ที่เป็นปกติ
ผู้ฟัง ถ้าจะเข้าใจทีเดียว ๓ อย่าง ก็เลยรู้สึกว่าจะเป็นไปได้หรือ
ท่านอาจารย์ เป็นไปไม่ได้ค่ะ จิตเกิดขึ้นต้องรู้สภาพธรรมทีละอย่าง
ผู้ฟัง คือเข้าใจว่า นี่เป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม
ท่านอาจารย์ รู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรม เมื่อรู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรม ก็แสดงว่ารู้ในความเป็นนามธรรม
ผู้ฟัง และต้องรู้ว่าเป็นนามธรรมอะไรด้วย
ท่านอาจารย์ ก็ลักษณะนั้นเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ไม่เปลี่ยน แต่รู้ว่าไม่ใช่เรา เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง
ผู้ฟัง และรู้ว่าไม่ใช่เราอีก
ท่านอาจารย์ ขณะที่รู้ว่าเป็นธรรม นั่นรวมอยู่แล้วค่ะว่า มันไม่ใช่เรา ถึงได้เป็นธรรม
ผู้ฟัง ก็ ๓ อย่างแล้ว
ท่านอาจารย์ ไม่ค่ะ อย่างเดียวค่ะ ขณะที่รู้ว่าเป็นธรรมนั้น คือรู้ว่าไม่ใช่เรา ถ้าไม่รู้ว่าเป็นธรรมซิคะเป็นเรา แต่พอรู้ว่าเป็นธรรมแล้วจะเป็นเราได้อย่างไร
ผู้ฟัง ในโลกนี้ไม่มีเราหรือ
ท่านอาจารย์ ไม่มีได้อย่างไร ใครรู้ว่าไม่มี
ผู้ฟัง ก็อาจารย์ว่า
ท่านอาจารย์ นั่นซิคะ ใครรู้ว่าไม่มี
ผู้ฟัง ที่เราเข้าใจว่าเป็นตัวเรา
ท่านอาจารย์ ก็ยังเป็นเราเข้าใจค่ะ เพราะฉะนั้นไม่ได้ลดอะไร ยังเป็นเราที่เข้าใจ
ผู้ฟัง เราคิดว่ามีรูป
ท่านอาจารย์ นั่นเราคิดไงคะ คิดว่าเป็นรูป แต่ไม่ได้ประจักษ์ลักษณะของรูปว่าเป็นรูป เพียงแต่คิดว่าเป็นรูป