มีอยู่ก็ไม่เห็น
ผู้ฟัง ขณะที่กำลังฟังท่านอาจารย์อธิบายธรรมอยู่ สติก็ไม่เกิด
ท่านอาจารย์ ไม่เกิดก็ไม่เกิดค่ะ
ผู้ฟัง ก็เกิดความคิดเปรียบเทียบขึ้นมาอีกว่า ขนาดที่เรากำลังฟังธรรมอยู่ สติก็อาจจะนิดเดียว และบางทีก็ไม่เกิด แต่ถ้าเราอยู่ที่บ้านคนเดียวสบายๆ เราหยิบโน่น เราดูนี่ หรือนั่งฟังเทปอาจารย์ สติก็ยังเกิดมากกว่าเสียอีก มันเพราะอะไร ขณะที่เราฟังธรรมตรงนี้ แล้วเราก็ตั้งใจฟัง สติก็ไม่เกิด เป็นเพราะอะไรคะ
ท่านอาจารย์ คำตอบนี่ตรงกับคำแรกที่เราได้ยินเลย “อนัตตา” ค่ะ ทิ้งไม่ได้ ลืมไม่ได้ เห็นโลภะแทรกไหมคะ เราอาจจะติดว่า เราต้องอยู่อย่างนั้นแล้วสติจะเกิด เขาจะมาล่ออยู่ตลอด เพราะฉะนั้นโลภะเป็นสมุทัย อริยสัจจะ เห็นยากเพราะลึกซึ้ง หรือลึกซึ้งจึงเห็นยากก็ได้ เพราะเขามีอยู่ก็ไม่เห็น ไม่ใช่ไม่มี โลภะมี ก็ไม่เห็น เพราะลึกซึ้งค่ะ ขณะนี้สภาพธรรมเกิดดับก็ไม่เห็น เพราะลึกซึ้ง แสดงว่าเกิดแล้วก็ดับตามเหตุตามปัจจัย นี่เข้าใจหมดเลย แต่ก็ไม่ได้ประจักษ์ เพราะลึกซึ้ง ฉันใด โลภะนี่ไม่ใช่ใครจะไปละโดยไม่รู้ โดยไม่เห็น
เพราะฉะนั้นถ้าขณะนั้นเรากำลังมีสติ เพียงอยากเกิดขึ้นนิดเดียว เรารู้เลย นี่คือสมุทัย นี่คือโลภะ ละเมื่อไร ละเมื่อนั้นทันที มิฉะนั้นโลภะก็จะนำไปอีก ให้เราไปอยู่ในที่เงียบๆ แล้วพอมาเอิกเกริกก็ไม่มีการรู้ลักษณะของโลภะ ไม่มีการรู้ว่าเป็นธรรม
เพราะฉะนั้นจึงต้องเป็นผู้อาจหาญร่าเริง แล้วถ้าเรามีความรู้เพิ่มขึ้นจริงๆ อย่างเช่นสภาพธรรมที่ไม่มี ไม่ปรากฏ มีไหมคะ ช่วงไหนที่สภาพธรรมไม่ได้ปรากฏ
ผู้ฟัง ตอนหลับ
ท่านอาจารย์ ตอนหลับใช่ไหมคะ เป็นภวังค์ ทุกคนต้องยอมรับว่าไม่มีอะไรปรากฏเลย แล้วมีสภาพธรรมปรากฏ ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ขณะที่รู้ลักษณะที่เป็นธาตุ ที่เป็นนามธรรม รูปธรรม ขณะนั้นจะรู้ความหมายของอายตนะ ทำไมปรากฏได้ สภาพธรรมมีจริงก็จริง แต่ทำไมปรากฏ อย่างเสียงในป่าไม่ได้ปรากฏ เกิดแล้วดับแล้วหมด เสียงในครัวก็ไม่ได้ปรากฏ เสียงไกลๆ ก็ไม่ได้ปรากฏ เกิดแล้วดับแล้ว แต่ทำไมเสียงนี้ปรากฏ ต้องมีทางที่เสียงนี้จะปรากฏได้
เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่เราได้ยินได้ฟังโดยตำรา เวลาที่สติปัฏฐานเกิด ความเข้าใจเพิ่มขึ้น ลักษณะของนามธรรมปรากฏโดยความเป็นธาตุ เราจะมีความเข้าใจกระจ่างในความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน แต่ว่าอริยสัจ ๓ รอบ สัจญาณ กิจญาณ กตญาณ
สัจญาณ คือ รู้จริงๆ ในอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ ต้องเดี๋ยวนี้ ขณะนี้แหละ เพราะฉะนั้นเราจะไม่ไปที่อื่นเลย ระลึกได้เมื่อไร ขณะนั้นคือสามารถเข้าใจได้ว่า นี่เป็นฐาน หรืออารมณ์ที่ตั้งของสติ ความหมายหนึ่ง และก็สติที่กำลังระลึก ก็เป็นสติปัฏฐาน ไม่ใช่สติขั้นทาน ขั้นศีล และสติขณะที่กำลังระลึกนั่นแหละเป็นหนทางที่พระอริยะทั้งหลายท่านได้เดินมาแล้ว แม้พระผู้มีพระภาค และพระสาวกก็ต้องเป็นทางนี้แหละ ตรงนี้แหละที่ปัญญาจะเจริญ
เพราะฉะนั้นจึงจะเห็นโลภะ ถ้าเกิดนิดหนึ่ง ก็รู้ว่า นั่นเป็นสิ่งที่ต้องละ และจะเข้าใจสภาพธรรมแจ่มแจ้งเมื่อลักษณะนั้นเป็นธาตุแต่ละอย่าง แต่เวลานี้แม้สภาพธรรมเป็นธาตุ ก็เป็นเรา ทำไมตอนนั้นสติเกิด ทำไมตอนนี้สติไม่เกิด ก็คือความคิด แต่ว่าไม่ได้ประจักษ์ มั่นคงในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม และถ้ารู้ว่าเป็นอนัตตาจริงๆ สติก็มีโอกาสจะเกิดแม้เดี๋ยวนี้ได้ แต่ทีนี้ทำไมอย่างนั้นก็โน้มเอียงหันไปหาอย่างนั้นก็กั้นทันที ก็ไม่เห็นโลภะที่จะละ
เพราะฉะนั้นหนทางนี้เป็นหนทางละโลภะโดยตลอด ถ้ายังมีโลภะหลงเหลืออยู่ ไม่มีทางรู้แจ้งอริยสัจที่ ๓ คือ นิพพาน นิโรธสัจจะ
เป็นเรื่องที่ละเอียดค่ะ และต้องเป็นปัญญาจริงๆ ต้องเป็นเรื่องละโดยตลอดด้วย ด้วยปัญญาด้วย เพราะฉะนั้นเราจะไม่คำนึงถึงอย่างอื่น ปัญญามีหรือยัง ถ้าปัญญาไม่มี ก็ไม่ต้องไปคิดว่า ทำไมสติเกิดน้อย นานๆ เกิด เกิดไม่บ่อย แต่ว่าไม่สนใจเลย เพราะหน้าที่ คือ อบรมปัญญา แล้วปัญญาเป็นสังขารขันธ์ ไม่ใช่เวทนาขันธ์ ไม่ใช่สัญญาขันธ์ ไม่ใช่รูปขันธ์ ไม่ใช่วิญญาณขันธ์ แต่เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่ง เมื่อมีปัญญานำ ปัญญาก็นำไปสู่ทางที่ถูก นำไปสู่ปัญญายิ่งขึ้นๆ ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด เขาก็นำไปสู่ทางผิดเรื่อยๆ ไม่มีทางที่จะนำมาอย่างปัญญาได้เลย
เพราะฉะนั้นเราก็เข้าใจความเป็นธรรม และเหตุผลของธรรมมากขึ้น ข้อความในพระไตรปิฎกก็กระจ่างด้วยความเข้าใจสภาพธรรมที่ตัวจริง กำลังแสดงลักษณะจริงๆ ลักขณาทิจตุกะ ลักษณะ ๔ ของสภาพธรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นจิต เจตสิกแต่ละอย่าง เราไม่จำเป็นต้องไปรู้หมด เพราะว่าใครรู้หมด ผู้นั้นทรงแสดง
เพราะฉะนั้นพระไตรปิฎก คือ พระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ แต่ส่วนเรา ปัญญาเราแค่ไหน เพราะฉะนั้นถ้าเราจะรู้ลักษณะ หรือรู้กิจ หรือรู้เหตุใกล้ ก็ไม่ใช่เราจะไปรู้ทั่วหมด ใช่ไหมคะ อย่างผัสสเจตสิก กำลังมีแท้ๆ นี่ใครรู้ ก็เป็นเรื่องของปัญญาแต่ละระดับ ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องหวั่นไหว แล้วไม่ต้องคิดว่า ปัญญานี่เป็นของเรา ปัญญาของแต่ละคนก็คือการสะสมของแต่ละคน ปัญญาของท่านพระสารีบุตร ปัญญาของท่านพระมหาโมคคัลลานะ ปัญญาของท่านพระมหากัสสปะ ปัญญาของท่านพระอานนท์ แต่ละคนก็ตามสังขารขันธ์ที่สะสมมา
เพราะฉะนั้นแต่ละคนเป็นแต่ละหนึ่งของจิตที่เกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ แล้วก็ดับแล้วก็สืบต่อในแสนโกฏิกัปป์ จนมาถึงขณะนี้ เดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องไปคิดเปรียบเทียบ ไม่ต้องไปคิดหวังอะไร แต่รู้ว่าสิ่งใดที่เกิด ก็คือสิ่งนั้นตามการสะสม
เพราะฉะนั้นไม่ว่าสติจะระลึกอะไร นั่นคือสะสมมาที่จะระลึกอย่างนั้น จะระลึกที่ลมหายใจ จะประจักษ์การเกิดดับของลมหายใจก็แล้วแต่ คือ ไม่ใช่เราที่จะกะเกณฑ์ ที่จะไปตกใจ ที่จะไปคิดว่า เราเป็นบุคคลที่จะรู้อย่างนั้นไม่ได้ หรือจะต้องรู้อย่างนี้ ไม่ใช่หน้าที่เลยค่ะ หน้าที่คือเข้าใจสภาพธรรมถูกต้อง ละความเป็นตัวตน แล้วแต่ว่าสภาพธรรมใดจะเกิดก็ไม่หวั่นไหว ก็ไปตามหนทางนี้เรื่อยๆ และต้องเห็นโลภะเพิ่มขึ้น ละเอียดขึ้น ถึงจะละได้ ไม่อย่างนั้นไม่มีทางเลย จะไปละโลภะกันแบบไหน เมื่อไม่เห็นโลภะ