เพราะไม่ลึกซึ้งกับสภาพธรรมที่มี


    ผู้ฟัง ที่อาจารย์บอกว่า ฟังธรรมให้เป็นอนัตตา จะต้องจรดกระดูก จะต้องลึกซึ้ง และที่ท่านอาจารย์บอกว่า ธรรมหลังจากไม่มี แล้วมี แล้วไม่มี เป็นความมหัศจรรย์ ผมฟังแล้ว มันธรรมดาๆ ครับ

    ท่านอาจารย์ ธรรมดามาก เพราะเกิดมาก็เห็น เกิดมาก็ได้ยิน ธรรมดาจริงๆ เพราะไม่รู้ว่าเป็นธาตุที่ไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง ฟังแล้วไม่ได้เกิดปีติ ไม่ได้เกิดอะไรพิสดารเลย

    ท่านอาจารย์ อย่างเสียง ไม่เคยลองพิจารณาเลยหรือคะ สภาพเสียง ไม่น่าอัศจรรย์หรือคะ เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เหมือนกับธาตุทั้งหลายที่เป็นธาตุ ธาตุ ธาตุ เพราะฉะนั้นธาตุเสียง ไม่ต้องเอาตัวตน หรือเอาคน หรือเอาอะไรเข้าไปปนในนั้นเลย ธาตุเสียงเป็นธาตุชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ไม่น่าอัศจรรย์หรือคะ อยู่ดีๆ ก็มีธาตุเสียงเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง จะไม่ตื่นเต้นเหมือนกับบางตัวอย่างที่อาจารย์เคยยก เช่น รังเกียจอกุศลเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้ารังเกียจอกุศลของคนอื่นจนกระทั่งขณะนั้นลืมรังเกียจอกุศลของตนเองที่รังเกียจอกุศลของคนอื่น อย่างนี้ยังวาบอยู่ในใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีอะไรเลย แล้วเกิดมีเสียงขึ้น ไม่น่าอัศจรรย์หรือคะ ไม่มีอะไรเลย แล้วก็เกิดมีเสียงขึ้น เพราะว่ามีเราที่ชินต่อเสียง ใช่ไหมคะ แต่ทีนี้เราก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี ไม่มีอะไรเลย แล้วก็เกิดมีเสียงขึ้นมา ไม่น่าอัศจรรย์หรือคะ แล้วเสียงนั้นปรากฏด้วย ต้องมีสภาพที่รู้เสียง เสียงนั้นจึงปรากฏได้ ไม่น่าอัศจรรย์หรือคะ

    ผู้ฟัง สำหรับผมธรรมดาเหลือเกิน แต่ท่านอื่นผมไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ ดูเป็นธรรมดา เพราะเราชิน ใช่ไหมคะ แต่พอไม่มีเราแล้วเป็นธาตุทั้งหมดเลย ศึกษาโลกธาตุ โลกธรรมทั้งหมดนี่เป็นธาตุ ไม่ว่าจะที่นี่หรือที่ไหนในจักรวาล แสนโกฏิจักรวาล ก็เป็นธาตุแต่ละอย่าง ไม่มีความเป็นเราอีกเลย และความเป็นธาตุ ไม่น่าอัศจรรย์หรือว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ปรากฏได้อย่างไร อยู่ดีๆ ก็ปรากฏ ต้องมีธาตุรู้ ถ้าไม่มีธาตุรู้ เสียงจะปรากฏไม่ได้เลย

    นี่เพราะเราไม่เคยลึกซึ้งกับสภาพธรรมที่มี เพราะฉะนั้นปัญญาของเราอยู่ตรงไหน มันไม่มีเลย เพราะว่าไม่มีความลึกซึ้ง ใช่ไหมคะ แต่ที่ปัญญาจะรู้ ปัญญาจะไปรู้อื่นจากนี้ได้ไหม สิ่งที่เป็นธรรมดาในชีวิตของเราเหมือนไม่มีอะไร เหมือนไม่สลักสำคัญอะไรเลย แต่ที่ปัญญาจะเกิด จะรู้แล้วว่า เป็นปัญญาระดับไหน ก็ต้องรู้ในสิ่งที่มีนั่นแหละ ถ้าเรารู้ในสิ่งที่มีเพียงนิดเดียว ก็แสดงว่าปัญญาของเรานิดเดียว แต่ถ้ารู้ในสิ่งที่มีนั้นมาก จนกระทั่งต้นตอ จนกระทั่งปัจจัยที่จะทำให้เกิดสภาพธรรมนั้นๆ เราก็รู้ว่า นั่นคือปัญญาทั้งหมด

    ผู้ฟัง หมายความว่าต้องเรียนมาก

    ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ ในสิ่งธรรมดาๆ นี่แหละ แต่รู้มากขึ้น เข้าใจมากขึ้น เห็นถูกมากขึ้นในความเป็นธาตุ ไม่ใช่เป็นเรา

    ผู้ฟัง อย่างอาจารย์ยกตัวอย่างเสียงว่า มี แล้วไม่มี เสียงก็เกิดดับ เราก็รู้ว่า บางครั้งก็เงียบ บางครั้งก็ดัง แต่ถ้ารูป เห็นแล้วคนหายไป อย่างนี้น่าจะอัศจรรย์กว่านะครับ

    ท่านอาจารย์ แล้วเวลาที่เสียงปรากฏ คนมีไหมคะ

    ผู้ฟัง มีครับ

    ท่านอาจารย์ นั่นแหละค่ะไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้ว่าเป็นธาตุจริงๆ ถึงจะพบความน่าอัศจรรย์ว่า คนไม่มีเลย มีแต่ธาตุแต่ละขณะที่เกิดแล้วเป็นสภาพของธาตุนั้นๆ ธาตุเสียงก็ไม่ใช่ธาตุรู้เสียง และขณะนั้นที่มีธาตุเสียงกับธาตุรู้เสียง ธาตุอื่นจะมีไม่ได้ ปรากฏไม่ได้เลย แน่นอนเด็ดขาด ไม่มี

    เดี๋ยวนี้ก็เป็นอย่างนั้น แต่ไม่รู้ ไม่ประจักษ์ ก็ไม่น่าอัศจรรย์ เพราะมันต่อกันเร็วจนเหมือนธรรมดา ใช่ไหมคะ แต่ถ้าออกมาเป็นแต่ละอย่างๆ ที่มีปัจจัยก็เกิดแล้วก็ดับ แล้วยับยั้งไม่ได้ด้วย ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ได้เลย ไม่มีใครไปหยุดยั้ง หรือไปอยากให้เกิดขึ้น ไม่มีความเป็นเราอยู่ที่ไหนเลย

    ผู้ฟัง หรือว่าจนกว่าสติปัฏฐานจะเกิดก่อนถึงจะน่าอัศจรรย์

    ท่านอาจารย์ ก็สิ่งที่ปัญญาจะต้องรู้ ก็คือของธรรมดา แต่ปัญญายังไม่เกิด ก็ไม่ใช่ปัญญาใช่ไหมคะ แต่ถ้าปัญญาจะเกิด ปัญญาไม่ได้รู้อย่างอื่นเลย นอกจากทุกอย่างที่มีจริงในขณะนี้ตามปกติ แต่มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ชัดขึ้น ละเอียดขึ้น แจ่มแจ้งขึ้น นั่นคือปัญญาเจริญขึ้น จึงรู้สิ่งที่กำลังปรากฏได้ตามปกติ ปัญญาจริงๆ ต้องรู้สิ่งที่กำลังปรากฏได้ตามปกติ ตามความเป็นจริง


    หมายเลข 8246
    24 ส.ค. 2567