อารมณ์คือที่ตั้งของสติ
ผู้ฟัง การระลึกได้เกิดขึ้นจากการสะสมการฟังธรรม จากการฟังว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นสิ่งที่รับรู้ ตาก็รับรู้สี หูก็เสียง จมูกก็กลิ่น ค่อยๆ สะสมไปจนกระทั่ง
ท่านอาจารย์ หมายความว่าฟังแล้วมีความเข้าใจว่า เป็นธรรม
ผู้ฟัง เป็นธรรมค่ะ
ท่านอาจารย์ แล้วก็มีความเข้าใจว่า ปัญญาที่จะรู้ธรรม ก็คือรู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ไม่ใช่รู้อย่างอื่น พอเข้าใจอย่างนี้ สติก็จะเกิดระลึกสิ่งที่มีเพื่อที่จะค่อยๆ ศึกษาให้เข้าใจว่า เป็นจริงอย่างนั้น คือ ลักษณะที่แข็ง ไม่ใช่รู้แข็ง
ผู้ฟัง ในขณะที่ระลึก เนื่องจากการที่เราฟังบ่อยๆ แล้วเข้าใจ
ท่านอาจารย์ เข้าใจในความเป็นธรรม
ผู้ฟัง เหมือนกับความเคยชินพอสภาพธรรมนั้นมาสัมผัส เราระลึกรู้ ไม่มีเรา หมายความว่าเกิดขึ้นมาตามที่เราได้ศึกษาธรรมตรงนั้นแล้ว
ท่านอาจารย์ ที่จริงตอนนี้แข็งก็มีตั้งนานเหมือนกัน สติเกิดหรือสติไม่เกิด ก็คือแล้วแต่ปัจจัย ก็เป็นธรรมดา ไม่ต้องตื่นเต้น ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องหวัง ไม่ต้องจดจ้อง หรืออะไรทั้งสิ้น แต่ค่อยๆ รู้ว่า ขณะนั้นต่างกับขณะที่หลงลืมสติ นี่คือขั้นแรก เพราะว่าสติระลึกจึงต่างกับขณะที่ไม่ระลึก ปัญญาแค่ไหนคะ นิดเดียว เพียงขั้นเริ่มต้น แต่ให้เข้าใจว่า นี่คือหนทาง นี่คือสติปัฏฐาน ตรงตามที่ทรงแสดง คือ ปัฏฐาน หมายถึงที่ตั้ง หรืออารมณ์ หรือสิ่งที่สติระลึก มีจริงๆ มีฐานที่ตั้งของสติ คือ แข็ง และสภาพของสติก็เป็นสติปัฏฐาน เพราะว่าระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่ใช่สติขั้นทาน ไม่ใช่สติขั้นศีล ไม่ใช่สติขั้นความสงบ
เพราะฉะนั้นสติปัฏฐาน คนนั้นก็เข้าใจ ที่ใช้คำว่า “สติปัฏฐาน” เมื่อไร มีลักษณะอย่างไร ก็ปรากฏกับคนนั้นขณะที่สติเกิด ขณะที่สติปัฏฐานเกิด รู้เลยว่า นั่นคือความหมาย อรรถของสติปัฏฐาน เป็นหนทางที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอริยบุคคลทั้งหลายดำเนิน ถ้าไม่อาศัยสติที่กำลังเกิด กำลังระลึก จะไม่มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าทุกอย่างเป็นธรรม แต่ที่จะรู้ว่าเป็นธรรมก็ต่อเมื่อสติระลึก แล้วปัญญาค่อยๆ เข้าใจขึ้น
ต่อไปใครพูดเรื่องสติปัฏฐาน เรารู้ความหมายจริงๆ ๓ ความหมาย ถ้าบอกว่า สติปัฏฐาน ๔ โดยแยกอารมณ์ กาย เวทนา จิต ธรรม
สติปัฏฐาน ๓ คือ ๑. หมายถึงอารมณ์ คือ ที่ตั้งที่สติระลึก คือ ปรมัตถธรรม และตัวสติเองก็เป็นสติปัฏฐาน เพราะไม่ใช่สติขั้นทาน ศีล แล้วก็เป็นสติที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอริยะทั้งหลายเดิน
เราจะลืมไหมคะในเมื่อสภาพธรรมนั้นเกิด และเราเข้าใจถูกต้องว่า มีทั้งตั้งที่สติระลึก ที่ตั้งนั้นเป็นสติปัฏฐาน ตัวอารมณ์เป็นที่ตั้งของสติ และตัวสติก็เป็นสติปัฏฐาน และหนทางนี้ก็เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ปัญญาประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมทั้งหลาย
ศึกษาอย่างนี้จะไม่มีวันลืมความหมาย ไม่ต้องไปท่องด้วย และก็เข้าใจชัดเจน ใครจะพูดเรื่องสติปัฏฐาน แต่เขาไม่รู้ เพราะสติปัฏฐานไม่เกิด ใช่ไหมคะ เขาก็ไม่สามารถรู้ว่า ตอนที่สติปัฏฐานเกิดคืออย่างนี้ ตรงนี้ ธรรมดาอย่างนี้ และปัญญาที่จะเพิ่มขึ้น ก็คือรู้ขึ้น ค่อยๆ รู้ขึ้นในความต่างของนามธรรม และรูปธรรม ซึ่งขณะนั้นมีจริงๆ แต่เคยเป็นเรา และเคยเป็นความไม่รู้ เพราะว่าผ่านไปเลย พอระลึก เกือบจะไม่มีการระลึกเลย พอปรากฏก็หมดไปๆ
เพราะฉะนั้นทุกอย่างมี เมื่อเกิดขึ้นปรากฏ แล้วหมดไป ก็ไม่ได้ประจักษ์ความหมดไป เมื่อสติปัฏฐานไม่เกิด
เพราะฉะนั้นเราก็จะอยู่ในโลกของความทรงจำที่เป็นอัตตสัญญา จำว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุที่เที่ยงตลอดชีวิต กี่ภพ กี่ชาติจนกว่าจะได้ฟังพระธรรม และมีความเข้าใจถูก แล้วเริ่มสติปัฏฐานเมื่อไร เราถึงจะรู้ว่าเป็นธรรม ค่อยๆ เข้าใจขึ้น