ธรรม ๒ ประเภท
ซึ่งธรรมจริงๆ แล้ว แม้จะหลากหลายสักเท่าไรก็ตาม แต่ก็ต่างเป็น ๒ ลักษณะ คือ ลักษณะหนึ่งเป็นสภาพที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น มีไหมคะ สภาพที่ไม่รู้อะไรเลย มีไหม นี่ต้องคิดแล้ว ถ้าเราจะศึกษาธรรมแบบให้คนอื่นบอกตลอดเวลา จะไม่ใช่ปัญญาของเรา
เพราะฉะนั้นพระธรรมที่ทรงแสดงนี่ให้ไตร่ตรอง ให้พิจารณา จนกระทั่งเป็นความรู้ความเข้าใจถูกของตัวเอง ขณะนั้นจะเป็นความเข้าใจที่เราไตร่ตรองแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าใครจะมาบอกเราที่ผิดจากความเป็นจริง เราก็รู้ว่าไม่ถูกต้อง ถ้าสิ่งที่ถูกต้องก็คือถูกต้องกับสิ่งที่มีจริง ที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้นถ้าถามว่า ธรรมที่เกิดขึ้น แล้วไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น มีไหม มีหรือไม่มี นี่เราต้องคิดเอง เรายังไม่ต้องเรียก คือ เราไม่ต้องคิดถึงชื่อว่า เขาเรียกอะไร แต่ไตร่ตรองว่า สภาพธรรมที่มีจริงๆ แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย มีไหม ยังไม่ต้องไปเรียกชื่อว่า ชื่ออะไร แต่ให้มีความเข้าใจ
เพราะฉะนั้นถ้าเราศึกษาธรรมโดยความเข้าใจ เราไม่ต้องท่องเลย เราจะมีความเข้าใจถูกตั้งแต่ต้น เช่น ธรรม ไม่ได้อยู่ในหนังสือ แต่ว่าสภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมดซึ่งปรากฏขณะที่ไม่หลับ ถ้าขณะที่หลับแล้ว สภาพธรรมใดๆ ก็ไม่ปรากฏเลย เพราะฉะนั้นสภาพธรรมจะปรากฏต่อเมื่อไม่หลับ และสภาพธรรมที่ปรากฏมี ๒ อย่างที่ต่างกัน คือ ลักษณะหนึ่งเป็นสภาพที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น มีไหม สภาพธรรมนี้ ถ้ามีคนบอกว่าเป็นรูปธรรม อย่างนั้นอย่างนี้ เราก็จำ แต่เราไม่ได้เข้าใจ แต่ถ้าให้เราคิดว่า สภาพธรรมที่มีแต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยมีไหม มีหรือไม่มีคะ
เดานะคะ เดาว่ามี แต่จริงๆ แล้ว แข็ง รู้อะไรหรือเปล่า แข็งเป็นสภาพรู้ หรือไม่สามารถจะรู้อะไรได้ เอามีดมาฟันไม้ ไม้รู้อะไรหรือเปล่า
เพราะฉะนั้นสภาพที่ไม่รู้เลย มี เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้มีจริงๆ ไม่ต้องเรียกว่าคน ไม่ต้องเรียกว่าโต๊ะ ไม่ต้องเรียกว่าอะไรเลย เพียงแต่คิดว่า สิ่งที่มีทางตาขณะนี้ มี ใครปฏิเสธว่าไม่มี ในเมื่อกำลังเห็น มีเมื่อไร เมื่อเห็น เพราะฉะนั้นปฏิเสธไม่ได้เลย สิ่งที่ปรากฏขณะที่เห็น สิ่งที่ถูกเห็น ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง จะปรากฏต่อเมื่อกระทบกับจักขุปสาท ถ้าคนไหนตาบอด สิ่งนี้ไม่ปรากฏเลย
เพราะฉะนั้นในขณะที่เห็น ถ้าเอารูปออกหมดเลย รูปร่างไม่มี รูปคนไม่มี รูปนกไม่มี รูปเป็ดไม่มี รูปช้างไม่มี มีแต่เห็น ลักษณะที่เห็น สภาพที่รู้คือกำลังเห็น มีจริงๆ แต่ไม่มีรูปร่างใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่พอมีรูปร่างเข้าไปใส่ เราคิดถึงรูป แล้วเราก็เลยปนกันระหว่างนามธรรมกับรูปธรรม แต่ตามความจริงแล้ว ทั้ง ๒ อย่างแยกขาดจากกันโดยเด็ดขาด คือ รูปธรรมที่เกิด ไม่ใช่สภาพรู้ เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏ เสียงที่กำลังถูกได้ยิน กลิ่น รส เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ถ้าในโลกนี้หรือกี่โลกก็ตาม มีแต่ธรรมที่เกิด โดยที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ ไม่มีการเดือดร้อนใดๆ ทั้งสิ้น ฝนจะตก น้ำจะท่วม ไฟจะไหม้ที่ไหน ในนรก บนสวรรค์อย่างไร ก็ไม่มีสภาพรู้ ที่ไปรู้ ไปรู้สึก ไปจำ ก็จะไม่มีการเดือดร้อนใดๆ ทั้งสิ้น
แต่ถ้าเราศึกษาธรรมจริงๆ ถึงแก่นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม ซึ่งมีความหมาย หรือศัพท์เดียวกับคำว่า “ธาตุ” หรือ “ธา – ตุ” คือไม่มีเจ้าของ เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ละอย่าง แต่ละอย่าง แต่ละอย่าง มีลักษณะเฉพาะตนๆ ถ้าเราจะจำภาษาบาลีควบคู่ไปด้วย ไม่ยากเลย เพราะว่าคนไทยใช้คำในภาษาบาลีในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ เช่นคำว่า “ลักษณะ” ทุกคนก็รู้ใช่ไหมคะ วิเสส หรือพิเศษ หรือเฉพาะ
เพราะฉะนั้นสภาพแข็ง ไม่ใช่กลิ่น วิเสสลักษณะของทั้ง ๒ อย่างนี่ต่างกัน คือ ทั้ง ๒ อย่างมีลักษณะเป็นสิ่งที่ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า “รูปธรรม”