เท่าที่เราจะรู้ได้


    ผู้ฟัง อยากจะทราบตรงปัญจทวาร เมื่อเรารับรู้สีทางตาแล้ว เมื่อไปสู่มโนทวาร วาระแรกที่อาจารย์ได้อธิบายว่า วาระแรกเท่านั้นเองที่เป็นปรมัตถธรรม นอกนั้นแล้วจะเป็นการปรุง การคิด

    ท่านอาจารย์ ใช้คำว่า วาระหลังๆ ไม่กำหนดค่ะ อาจจะเป็นปรมัตถ์กี่วาระก็แล้วแต่

    ผู้ฟัง อยากจะฟังตรงนี้ให้ชัดๆ อีกสักครั้งค่ะ ตั้งแต่ทางปัญจทวาร

    ท่านอาจารย์ ปัญจทวารวิถีจิตดับแล้ว จิตเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ปัญจทวารวิถีจิตแล้ว จิตเป็น

    ท่านอาจารย์ นี่ค่ะ เราไม่รีบร้อนไปตรงนั้นตรงนี้ แต่เราจะเข้าใจย้อนไปย้อนมาให้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า ความเข้าใจของเรานี่ เข้าใจโดยไม่ต้องไปท่อง ไม่ต้องไปจำ แต่เข้าใจจริงๆ ว่า เมื่อปัญจทวารวิถีจิตดับหมด จึงเป็นภวังค์ แล้วต่อจากจากนั้นอะไรเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง มโนทวาราวัชชนจิต

    ท่านอาจารย์ มโนทวาราวัชชนะเกิดขึ้น และต่อจากนั้นก็เป็นชวนจิต เหมือนกับทางปัญจทวาร เพราะฉะนั้นก็คู่กันทั้งทางมโนทวาร และปัญจทวารทุกครั้ง

    ผู้ฟัง แค่วาระแรกวาระเดียวนั่นเองที่เป็นปรมัตถ์ นอกนั้นแล้ว

    ท่านอาจารย์ ทางมโนทวารวาระแรกต้องเป็นปรมัตถ์ แต่เราจะไม่กำหนดว่ากี่วาระ เราใช้คำว่า “วาระหลังๆ ” เพราะอะไรคะ เท่าที่เราจะรู้ได้

    การศึกษาธรรมต้องรู้ว่า สามารถจะเข้าใจได้แค่ไหน รู้จริงได้แค่ไหน ไม่ใช่เราไปคร่ำเคร่งกับตำรา ตำรานี้พม่าว่าอย่างนี้ ลังกาว่าอย่างโน้น ไทยว่าอย่างนี้ มหายานว่าอย่างนี้ ก็พอดีใครจะรู้ ถ้าไม่ใช่ปัญญาของเราเอง

    เพราะฉะนั้นถ้าปัญญาของเราเอง สามารถจะรู้ได้แค่ไหน ก็ควรจะเข้าใจให้ถูกต้องแค่นั้น ส่วนใครจะบอกว่าอย่างไร เขารู้ได้ไหม ถ้าเขารู้ไม่ได้ ก็เรื่องของเขาที่จะนั่งค้นคว้ากันไป ตำราโน้น ตำรานี้อีกหลายตำรา


    หมายเลข 8274
    24 ส.ค. 2567