ทุกอย่างมีเพราะคิด
พล.ต.ศิลกันต์ แล้วภวังคจิตคั่น ที่ว่าเกิดเป็นนึกคิด เป็นลักษณะอย่างไรครับ
ท่านอาจารย์ ก็มโนทวารวิถี เพราะว่าจะคิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายไม่ได้ ทางตาเห็นมีสิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้น ทางหู มีเสียงเท่านั้นที่ปรากฏ ทางจมูกก็มีกลิ่นปรากฏ ทางลิ้นก็มีรสปรากฏ ทางกายก็มีเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวปรากฏ นอกจากนั้นเป็นเรื่องของมโนทวารหมด
พล.ต.ศิลกันต์ ที่ว่ามโนทวารวิถีเห็นปรมัตถธรรมครั้งแรก
ท่านอาจารย์ เห็นอะไรคะ จักขุทวารวิถี มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เราใช้คำว่า “รูป” คือ สีสันวัณณะต่างๆ ขณะนี้ปรากฏกับจักขุทวารวิถีจิต รูปมีอายุ ๑๗ ขณะจิต เมื่อรูปดับจักขุทวารวิถีจะเกิดต่อไปไม่ได้ ภวังคจิตก็เกิด ต่อจากนั้นมโนทวารวิถีจิตก็รู้สีที่เพิ่งดับต่อ เหมือนกัน อย่างเดียวกันเลย เพราะฉะนั้นระหว่างปัญจทวารวิถี และมีภวังค์คั่น มโนทวารวิถีเกิดต่อ ไม่มีใครจะสามารถแยกได้ อย่างขณะนี้จะแยกได้ไหมคะว่า ขณะไหนเป็นปัญจทวารวิถี ขณะไหนเป็นมโนทวารวิถี ถ้าแยกได้ก็ต้องรู้ภวังค์ที่คั่น
พล.ต.ศิลกันต์ อันนี้ปัญญาขั้นนี้ไม่สามารถจะรู้ได้เลยใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ อบรมเจริญไป แล้วใครจะรู้อะไร ก็คือรู้สภาพธรรมจริงๆ ตามกำลังของปัญญาของแต่ละคน
พล.ต.ศิลกันต์ มโนทวารวิถีเกิดขึ้นครั้งแรก ก็จะเห็น
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เห็นค่ะ มีอารมณ์เดียวกับปัญจทวารวิถี แล้วแต่ว่าจะเป็นสี หรือเสียง หรือกลิ่น หรือรส หรือโผฏฐัพพะ มโนทวารวิถีต้องเกิดสืบต่อ มีอารมณ์เดียวกับอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดของปัญจทวารวิถีที่เพิ่งดับ
พล.ต.ศิลกันต์ และที่ว่าจะเป็นความคิดนึก จะช่วงไหนครับ
ท่านอาจารย์ ก็ขณะที่ไม่มีพวกนี้เป็นอารมณ์ ขณะที่มโนทวารวิถีไม่มีสี ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ไม่มีโผฏฐัพพะเป็นอารมณ์
พล.ต.ศิลกันต์ เมื่อไม่มีอารมณ์ ก็เป็นความนึกคิด
ท่านอาจารย์ ก็คิดซิคะ
พล.ต.ศิลกันต์ ก็จิตดวงเดียวกัน มโนทวารวิถี
ท่านอาจารย์ จิตไม่มีดวงเดียวกันเลย ไม่มีจิตดวงเดียวกัน จิตแต่ละดวงเกิดแล้วดับทันที ไม่กลับมาอีก นี่คือไม่มีเราจริงๆ
พล.ต.ศิลกันต์ หลังจากรู้เป็นเรื่องราวแล้ว เป็นความคิดทางตา
ท่านอาจารย์ เรื่องราวคิดนึกทางมโนทวารดับแล้ว จิตอะไรเกิด ภวังคจิตเกิด ต้องพูดอย่างนี้เลย ต้องพูดเป็นจิตแต่ละ ๑ ขณะ แต่ละวาระ แต่ละทาง ถึงจะชัดเจน พอดับแล้วเป็นอย่างไรคะ
พล.ต.ศิลกันต์ วิถีอื่นเกิด
ท่านอาจารย์ วิถีอะไร
พล.ต.ศิลกันต์ ก็แล้วแต่
ท่านอาจารย์ ถ้าจะคิด ก็คือคิด อย่างคำว่า “คิด” นี่ จิตรู้ใช่ไหม คือ ขณะนั้นทางมโนทวารจิตมีคำว่า “คิด” เป็นอารมณ์
พล.ต.ศิลกันต์ ส่วนที่จะคิดนานหรือไม่นาน ก็เป็นเรื่องของปัจจัย
ท่านอาจารย์ “นาน” ก็เป็นเรื่องของมโนทวารวิถีจิตที่รู้ “หรือ” ก็เป็นมโนทวารวิถีจิตที่รู้ “ไม่” ก็เป็นมโนทวารวิถีจิตที่รู้ “นาน” ก็เป็นมโนทวารวิถีจิตที่รู้ ทุกขณะที่เกิดคิดให้ทราบว่าเป็นจิตทั้งนั้น แต่ละคำ ถ้าไม่มีจิต คำนั้นก็ไม่มี คิดก็ไม่มี
พล.ต.ศิลกันต์ ที่ว่ารู้นานหรือไม่นาน ความคิดนี่ที่เกิดขึ้นดับไป จะ
ท่านอาจารย์ ทีละ ๑ ขณะ ทีละ ๑ คำ สืบต่อกัน ถ้าเป็นชวนะก็ ๗ ขณะ คำว่า “คำ” ก็คือชวนจิต ๗ ขณะ มีคำว่า “คำ” เป็นอารมณ์
พล.ต.ศิลกันต์ ครับ ที่ผมกราบเรียนถามนี่เพราะบางทีคิดนานเหลือเกิน เรื่องเดียวกัน บางทีก็คิดไม่นาน
ท่านอาจารย์ คุณศิลกัณต์ คิดได้ทีละกี่คำ
พล.ต.ศิลกันต์ คำเดียวครับ
ท่านอาจารย์ นั่นแหละค่ะ วาระเดียวคือคำหนึ่ง วาระหนึ่งคือคำหนึ่ง จะกี่คำก็แล้วแต่
พล.ต.ศิลกันต์ อยู่ที่ปัจจัยใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ ที่พูดมาแล้วกี่คำ นับได้ไหมคะ
พล.ต.ศิลกันต์ นับไม่ได้ครับ
ท่านอาจารย์ นั่นแหละค่ะ คือแล้วแต่กี่คำก็กี่คำ นานหรือสั้นก็แล้วแต่จะคิดเรื่องนี้สั้น จะคิดเรื่องนี้ยาวก็แล้วแต่ แต่ให้ทราบว่า คิดคือจิตที่คิดทางมโนทวาร ทางตาเห็น ไม่ได้คิด ทางหูได้ยิน ไม่ได้คิด จมูกได้กลิ่น ไม่ได้คิด ลิ้นลิ้มรส ไม่ได้คิด รู้โผฏฐัพพะ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ไม่ได้คิด คิดทั้งหมดต้องเป็นทางมโนทวาร มากมายมหาศาล ไม่มีอะไรเหลือเลยก็คิดว่า มี
นี่คือความไม่รู้ สีดับไปหมดแล้ว เสียงดับไปหมดแล้ว กลิ่นดับหมดแล้ว รสดับหมดแล้ว สิ่งที่กระทบสัมผัสก็ไม่ปรากฏ แต่คิดว่ามีด้วย คิดว่ายังอยู่ด้วย คิดว่ายังเป็นคนนั้น คิดว่าเป็นคนนี้ นี่คือความไม่รู้ทั้งหมด