ต้องรู้ในความเป็นธรรม
ผู้ฟัง ฟังที่อาจารย์พูด ทำให้เข้าใจว่า สติปัฏฐานที่อาจารย์หมายถึง คือ การรู้สภาพธรรมทางทวารทั้ง ๖ แต่หลายท่านในที่นี่ได้ศึกษาพระสูตร คือ สติปัฏฐานสูตร ก็จะมีคำถามในใจว่า ในพระสูตรแสดงบรรพต่างๆ แล้วที่อาจารย์แสดงว่า เป็นการรู้สภาพธรรมทางทวารทั้ง ๖ จะตรงกับสติปัฏฐานในบรรพไหน
ท่านอาจารย์ คือก่อนอื่นต้องทราบว่า พระธรรมที่ทรงแสดงสอดคล้องกันทั้ง ๓ ปิฎก อันนี้ถูกหรือผิด ถูกนะคะ ถ้ายังไม่สอดคล้องกัน หมายความว่าความเข้าใจของเราถูกหรือผิด ผิดใช่ไหมคะ
เพราะฉะนั้นมีพระอภิธรรมไว้เพื่ออะไร สำหรับผู้ที่ต้องศึกษา ไม่ใช่เพียงฟังแล้วก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้เลย แต่ผู้นั้นต้องรู้ในสภาพธรรม ในความเป็นธรรม ต้องมีปรมัตถธรรมนี่แน่นอน ถ้าไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก ไม่มีรูป ไม่มีปรมัตถธรรม อะไรๆ ก็ไม่มี ใช่ไหมคะ
เพราะฉะนั้นพระสูตรที่ทรงแสดงไว้ เป็นสภาพธรรมหรือเปล่า หรือไม่ใช่สภาพธรรม พระสูตรทั้งหมดที่ทรงแสดง เช่น อวิชชา เป็นธรรมหรือเปล่า สังโยชน์ เป็นธรรมหรือเปล่า สติเป็นธรรมหรือเปล่า คือ ทุกอย่างจะพ้นจากปรมัตถธรรมไม่ได้เลย ใช่ไหมคะ
เพราะฉะนั้นสติเป็นปรมัตถธรรมอะไร เป็นเจตสิกปรมัตถ์ เป็นสิ่งที่มีจริงแท้แน่นอน ใช่ไหมคะ และสติก็มีหลายระดับ สติที่เป็นไปในทาน เพราะไม่ใช่เราที่ระลึกที่จะให้ทาน ต้องเป็นกุศลจิตที่เกิด ประกอบด้วยโสภณเจตสิก ๑๙ เพราะฉะนั้นสติขั้นทานไม่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ เกิดกับปัญญาก็ได้ ไม่มีปัญญาก็เกิดได้ สติขั้นศีลก็เช่นเดียวกัน พอถึงจิตสงบ ขณะนั้นก็ต้องเป็นสัมปชัญญะ คือ ประกอบด้วยปัญญา
เพราะฉะนั้นข้อความในพระไตรปิฎกจึงแสดงว่า ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนา ต้องประกอบด้วยสติ และสัมปชัญญะ คือ ไม่ใช่สติระดับที่เป็นทาน หรือเป็นศีล ถ้าเป็นไปในความสงบของจิตจริงๆ ที่จะอบรมให้สงบขึ้น ขณะนั้นก็ต้องมีสัมปชัญญะซึ่งประกอบด้วยปัญญาด้วย
เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานมีความหมาย ๓ อย่าง สติที่เป็นอารมณ์ ได้แก่ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ทั้ง ๔ นี้เป็นอารมณ์ของสติ นี่คือความหมายที่ ๑ อารมณ์ของสติ คือ สติปัฏฐาน คือ อารมณ์ของสติ และตัวสติเจตสิก ซึ่งกำลังระลึกลักษณะของสภาพที่เป็นกาย เวทนา จิต ธรรม ก็เป็นสติปัฏฐาน เพราะว่าไม่ใช่สติขั้นทาน ไม่ใช่สติขั้นศีล ไม่ใช่สติขั้นสมถะ และสติปัฏฐาน ความหมายที่ ๓ ก็คือเป็นหนทางที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอริยสาวกทั้งหลายได้บำเพ็ญหรือได้ดำเนินมาแล้ว นี่คือความหมาย
เพราะฉะนั้นจะขาดการรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมได้ไหม แม้ว่าจะแสดงสติปัฏฐานสูตร สติปัฏฐานสูตรจะรู้สิ่งที่ไม่ใช่ปรมัตถธรรม หรือไม่ได้รู้ธรรม ได้ไหม ไม่ได้เลย จึงจะเป็นสติสัมปชัญญะ
เพราะฉะนั้นผู้ที่อ่านสติปัฏฐานสูตร แต่ไม่ได้เข้าใจปรมัตถธรรม ไม่ได้ศึกษาพระอภิธรรมเลย เขาจะทำหลายอย่าง ซึ่งเขาไม่รู้จักตัวธรรม คือไม่รู้ว่า ธรรม คือสภาพที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ ถ้าสภาพธรรมที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ แล้วสติระลึก จะไม่พ้นจากสติปัฏฐานหนึ่งสติปัฏฐานใดใน ๔ สติปัฏฐานเลย
ลองยกตัวอย่างซิคะ สภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ เดี๋ยวนี้ แล้วสติระลึก จะไม่พ้นจากสติปัฏฐานหนึ่งสติปัฏฐานใดในสติปัฏฐาน ๔ เลย จะพ้นไม่ได้ค่ะ เพราะพระอภิธรรม พระสูตร พระวินัยต้องสอดคล้องกัน ถ้าไม่สอดคล้องเมื่อไร คือผิด คือไม่มีตัวธรรม ไม่มีปรมัตถธรรม แล้วเราจะเรียนปรมัตถธรรมทำไม ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม ไม่มีลักษณะที่มีจริงๆ ให้รู้
เพราะฉะนั้นพระสูตรทุกพระสูตรที่ทรงแสดง การรู้แจ้งอริยสัจธรรมที่ ๑ คือ ทุกขอริยสัจจะ รู้ลักษณะของอะไร อะไรเกิด อะไรดับ ถ้าสิ่งนั้นไม่ใช่ปรมัตถธรรม มีลักษณะที่เกิดดับหรือเปล่า ต้องสอดคล้องกันหมด
การอบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่ง ๑ ทุกขอริยสัจจะ คือ การเกิดดับของสภาพธรรม ก็ต้องเป็นปรมัตถธรรม ถ้าไม่ใช่ปรมัตถธรรม จะเกิดดับไม่ได้ ไม่มีลักษณะที่เกิดดับ
ต้องพ้องกันทั้ง ๓ ปิฎก และอรรถกถา ต้องสอดคล้องกัน