ทำไมถึงต้องเรียนอภิธรรม ๒


    พล.ต.ศิลกัณต์ ความหมายที่มีพระสูตรขึ้นมาเพื่ออะไร

    ท่านอาจารย์ ก็หมายความว่าทรงแสดงโดยนัยหลากหลายของปรมัตถธรรม เพราะเหตุว่าเรื่องราวในพระสูตร ไม่ว่าจะเป็นชาดก หรือเถรีคาถา เถรคาถา จริยาปิฎก หรือธรรมบทก็ตาม ถ้าไม่เข้าใจพระอภิธรรมแล้ว ก็จะไม่รู้เลยว่า ทั้งหมดเป็นธรรมที่เป็นพระอภิธรรม เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีปรมัตถธรรม อะไรๆ ก็ไม่มี แต่นัยของพระสูตร ประวัติของพระสาวกต่างๆ ประวัติของพระธัมมทินนาเถรี ประวัติของท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ท่านพระมหากัสสปะ ความหลากหลายความวิจิตรของสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิกมากมายมหาศาล

    เพราะฉะนั้นปรากฏเมื่อไร ปรากฏจากคำพูด จากความคิด จากการกระทำ ไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว ต้องในชาติก่อนๆ ด้วย ที่เคยทำมา เคยสะสมมา อย่างชาดก เวลาที่มีการกระทำใดๆ ของใครเกิดขึ้น พระภิกษุก็ไปเฝ้ากราบทูลถาม พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ไม่ใช่เกิดเพียงในชาตินี้

    เพราะฉะนั้นความคิดของเราที่จะคิดอย่างนี้ คิดอย่างนั้น เราไม่ใช่เพียงคิดในชาตินี้ อย่างคนที่ชอบทำทาน อย่างท่านอนาถบิณฑิกะ ท่านก็มีการสะสมที่จะให้ทาน อย่างท่านพระสารีบุตร ท่านก็มีการสะสมทางปัญญา ท่านพระมหากัสสปะท่านก็สะสมในความเป็นผู้มักน้อย

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า ความหลากหลายของจิต เจตสิกที่เกิดเพียง ๑ ขณะของแต่ละบุคคล ประมาณไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นจึงแสดงปรมัตถธรรมโดยนัยของชีวิตของแต่ละบุคคล ซึ่งก็จะพ้นจากปรมัตถธรรมไม่ได้ แต่ว่าเป็นความหลากหลายมาก เช่น สัญญาเจตสิก ธรรมดาๆ ทันทีที่เห็น ทุกคนเห็น จำได้ทันที คนไทยก็รู้เลยว่า เป็นดอกมะลิ ไม่ใช่ดอกไม้อื่น เหมือนกับสัญญาซึ่งเกิดจากการกำลังฟังเรื่องจิต เรื่องธาตุ เรื่องสภาพธรรม เรื่องความต่างกันของจิตกับเจตสิกกับรูป ต่างกันไหมคะ เพราะว่าสัญญาที่เกิดกับขณะกำลังฟังแล้วก็พิจารณา มีวิริยะอีกระดับหนึ่งซึ่งเกิด เพราะเวลาที่ศึกษาแล้ว เราจะรู้ว่า วิริยะเกิดกับจิตเกือบจะทุกดวง เว้นอเหตุกจิต ๑๖ ดวง

    เพราะฉะนั้นทันทีที่มีโลภะเกิด ยังไม่ต้องเคลื่อนไหวเลย ก็มีวิริยเจตสิกเกิดแล้ว แต่ต่างกับวิริยเจตสิกที่กำลังฟัง และไตร่ตรอง และกำลังพิจารณา กำลังจะเข้าใจลักษณะของปรมัตถ์นั้น

    เพราะฉะนั้นสัญญานั้นก็หลากหลายวิจิตรไปอีก และโดยนัยของพระสูตรก็ใช้ชื่อหลายๆ ชื่อ ซึ่งต้องมีการศึกษาให้เข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นสัญญาประเภทไหน ประกอบด้วยเจตสิกระดับไหน อย่างไร

    เพราะฉะนั้นนัยของพระสูตรซึ่งแสดงเรื่องราว อย่างพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าปเสนทิโกศลมีในพระสูตร แต่โดยปรมัตถ์ก็คือจิต เจตสิก และความหลากหลายของจิตของพระเจ้าพิมพิสารกับจิตของพระเจ้าปเสนทิโกศลต่างกัน จิตของพระเจ้าพิมพิสารเป็นพระโสดาบันบุคคล แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล การกระทำของพระเจ้าพิมพิสารกับการกระทำของพระเจ้าปเสนทิโกศล อย่างเวลาที่พระเจ้าปเสนทิโกศลไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบ จูบพระบาท ด้วยความเคารพสูงสุด

    นี่คือการสะสมความวิจิตรของจิตที่จะแสดงความนอบน้อมของแต่ละบุคคล แต่ละกาล นั่นคือพระสูตร แต่ก็ไม่พ้นจากพระอภิธรรม

    เพราะฉะนั้นถ้าคนที่ไม่ได้ศึกษาพระอภิธรรม จะเข้าใจพระสูตรผิด จะเข้าใจข้อความในพระสูตรผิด แต่ถ้าศึกษาแล้ว จึงจะเข้าใจได้ว่า ทั้งหมดเป็นปรมัตถธรรม เพราะถ้าไม่มีปรมัตถธรรม สิ่งใดๆ ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นก็ต้องให้สอดคล้องกันด้วยว่า ทุกขอริยสัจจะ ก็คือการรู้ลักษณะที่ไม่เที่ยง ซึ่งลักษณะที่ไม่เที่ยง ที่เกิดดับ ต้องเป็นลักษณะของปรมัตถธรรมเท่านั้น


    หมายเลข 8284
    24 ส.ค. 2567