ถ้าไม่ปรากฎจะรู้ได้มั้ย


    ผู้ฟัง ในสติปัฏฐานสูตร ข้อความตอนท้ายของทุกบรรพ จะพูดถึงการพิจารณาสภาพธรรมทั้งภายใน และภายนอก คือ ภายในอย่างหนึ่ง ภายนอกอย่างหนึ่ง และทั้งภายใน และภายนอก แล้วพิจารณาถึงความเกิด พิจารณาถึงความเสื่อม ทั้งความเกิด และความเสื่อม

    ตรงนี้เวลาอาจารย์แสดงสติปัฏฐาน ส่วนมากอาจารย์แสดงถึงการพิจารณาสภาพธรรมที่ปรากฏทางทวารทั้งหลาย แต่ไม่ค่อยพูดถึงพิจารณาเป็นภายนอก เป็นภายใน หรือทั้งความเกิด และความเสื่อม

    ท่านอาจารย์ ภายในกับภายนอก ถ้าไม่ปรากฏ จะรู้ได้ไหมคะ ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอก ถ้าไม่ปรากฏ จะรู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง ขั้นคิดก็คิดได้

    ท่านอาจารย์ แต่ขั้นที่รู้แจ้งสภาพธรรม ไม่ใช่ขั้นคิด

    ผู้ฟัง ก็มี ๒ อย่างใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องมีสภาพธรรม แน่นอน คือต้องรู้ว่า การที่จะรู้ความจริง ความจริงก็คือสิ่งที่มีจริง อันนี้แน่นอนที่สุด ไม่ใช่สิ่งที่เรานึกหรือเรียกชื่อว่า ภายในหรือภายนอก แต่ต้องมีสภาพธรรมที่มีจริงๆ ลักษณะที่มีจริงๆ จำแนกได้อีกเยอะแยะมากเลย โดยนัยของขันธ์ โดยธาตุ โดยนัยของอายตนะ อายตนะก็มีทั้งภายในภายนอก

    เพราะฉะนั้นเราไม่ได้ไปเรียกชื่อขณะที่สภาพธรรมปรากฏ เพราะฉะนั้นเมื่อสภาพธรรมมี กำลังปรากฏ ควรจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่เพียงคิด หรือเมื่อฟังเรื่องนี้ก็มีความรู้เพียงแค่คิด แต่ไม่สามารถรู้ลักษณะที่คิดว่า ไม่ใช่ลักษณะที่ระลึกตรงสภาพธรรมที่คิด หรือตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏกับสติสัมปชัญญะ

    เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจในขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดว่า ต่างกับขณะที่หลงลืมสติ และขณะไหนเป็นสติขั้นฟัง อย่างขณะที่กำลังฟังเข้าใจ ต้องมีสติเจตสิก ต้องมีสมาธิ คือ เอกัคคตาเจตสิก มีหิริเจตสิก มีโอตตัปปเจตสิก มีโสภณเจตสิกทั้ง ๑๙ โดยไม่รู้เลย เพราะกำลังฟังเรื่องราว แต่สภาพธรรมเหล่านี้ก็มีครบ เวลาที่กุศลจิตเกิด และกำลังเป็นสังขารขันธ์ ที่จะปรุงจากความเข้าใจถูกต้องจนกระทั่งถึงขณะที่สติสัมปชัญญะระลึก

    เพราะฉะนั้นผู้ที่สติสัมปชัญญะเกิด เป็นสัมมาสติ ก็จะรู้ได้ว่า การที่สัมมาสติเกิด ต้องมีปัจจัย ถ้าไม่มีการเข้าใจจริงๆ ไม่มีการฟังเรื่องที่กำลังปรากฏ แล้วสติสัมปชัญญะจะระลึกอะไร

    เพราะฉะนั้นทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผลที่จะรู้ว่า แม้แต่การเข้าใจความหมายของคำว่า “สังขารขันธ์” ไม่ใช่โดยชื่อเลย รูปขันธ์มีจริงๆ รูปทุกอย่าง ทุกชนิด ขณะนี้กำลังเกิดดับ รูปตั้งแต่แสนโกฏิกัปป์ สีสันวัณณะ ข้างหน้าอีก เดี๋ยวนี้ ก็คือสภาพที่ปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้นเราก็สามารถเข้าใจอรรถของขันธ์ที่จำแนกเป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็นอนาคต เป็นใกล้ ไกล หยาบ ละเอียด เลว ประณีตได้ว่า รูปต่างกันอย่างนั้นจริงๆ หลากหลายจริงๆ พอถึงความรู้สึกซึ่งเป็นเวทนา สุขเวทนาขณะนี้ กับขณะก่อน กับขณะข้างหน้า ทางกายเป็นสุขเวทนา ทางใจเป็นโสมนัสเวทนา ก็อย่างนี้แหละ ก็อยู่ในประเภทของเวทนา คือ ความรู้สึกซึ่งหลากหลายอีกเหมือนกัน ทั้งอดีต ทั้งปัจจุบัน ทั้งอนาคต ทั้งใกล้ ทั้งไกล ทั้งภายใน ทั้งภายนอก ทั้งหยาบ ทั้งละเอียด ใช่ไหมคะ


    หมายเลข 8287
    24 ส.ค. 2567