เริ่มต้นเพียงรู้แค่...เป็นธรรม ๑
เพราะฉะนั้นการศึกษาพระไตรปิฎกหลากหลายมากมาย แม้แต่โดยพยัญชนะที่ว่า ขันธ์ ก็มีทั้งภายใน ภายนอก มีทั้งหยาบ ละเอียด มีทั้งใกล้ ไกล เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจให้ถูก ให้ตรงว่า ตรงนี้หมายความถึงอะไร ตรงนั้นหมายความถึงอะไร แต่จะอย่างไรก็ตาม ตรงไหนก็ตาม สภาพธรรมใดที่ไม่ปรากฏ สภาพธรรมนั้นไม่มีปัจจัยเกิดขึ้นจึงไม่ปรากฏ หรือสภาพธรรมนั้นมีปัจจัยเกิดแล้วดับแล้ว โดยที่สติปัฏฐานไม่รู้ เช่น ขณะนี้สภาพธรรมที่เป็นรูปตั้งมากมายก็เกิดดับไป โดยที่สติปัฏฐานไม่ระลึก
เพราะฉะนั้นถ้าสติปัฏฐานจะระลึกที่จะรู้การเกิดดับ ก็ต้องระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม ซึ่งสำหรับผู้ที่เริ่มอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะไม่มีการรู้ลักษณะที่ละเอียดของขันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ เพราะว่าแม้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรมก็ยังไม่รู้
เพราะฉะนั้นเวลาที่เป็นการอบรมเจริญปัญญา และการประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม จะสอดคล้องกับการศึกษาว่า การศึกษาเริ่มต้น เรารู้เพียงแค่เป็นธรรม ขณะนี้ที่สติจะระลึกก็หมายความว่า เรามีสัญญา ความจำที่มั่นคงว่า ขณะนี้เป็นธรรมที่สติระลึกได้ ไม่ใช่ระลึกไม่ได้เลย ขณะนี้มีสิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรมที่สติระลึกได้ แต่ไม่ใช่เราระลึก เพราะว่าไม่มีเรา แต่เมื่อมีปัจจัย คือ สังขารขันธ์ที่เป็นทั้งสติด้วย สมาธิด้วย ขณะนี้ค่อยๆ ปรุงแต่งจนกระทั่งเมื่อสัมมาสติเกิดระลึก คนนั้นรู้เลยว่า ขณะนั้นเป็นสภาพของสติที่เป็นสัมมาสติที่กำลังระลึกลักษณะของปรมัตถธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นเป็นเพียงเริ่มศึกษาลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม
เพราะฉะนั้นปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธต้องสอดคล้องกันว่า ปฏิบัติก็ต้องคล้อยตามปริยัติ เริ่มจากธรรม เริ่มจากลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม เวลาที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม ก็ประจักษ์อย่างนั้นเลย คือ รู้ลักษณะความหมายของธาตุ หรือธา – ตุ หรือธรรม และก็รู้ความต่างที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม ไม่ใช่เราเอาตัวหนังสือมาก่อน แล้วเราไปรู้ แล้วไปคิด แต่ไม่สามารถรู้ความเป็นภายในหรือภายนอก หรือความหยาบ หรือความละเอียด หรือความเป็นลักษณะที่หลากหลายของธรรม
เพราะฉะนั้นการศึกษาต้องรู้ว่า ศึกษาตรงนี้หมายความว่าอย่างไร และเวลาที่สัมมาสติเกิดระลึกคืออย่างไร และเวลาที่ระลึกแล้วที่จะค่อยๆ รู้ ต้องตรงอย่างไร ถ้าเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ทางตาขณะนี้ คือจากการฟังเรารู้ว่า สิ่งที่มี ถ้าไม่คิดไม่เป็นคนหรอก หนังสือพิมพ์ ไม่มี นายกรัฐมนตรีไม่มี ไฟไหม้ไม่มี น้ำท่วมไม่มี ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาฉันใด ขณะนี้ก็เป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งแต่ก่อนนี้เราไม่เคยที่จะระลึก แต่พอฟังบ่อยๆ เข้า ก็เกิดระลึกว่า แท้ที่จริงแล้ว ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้นคนนั้นก็เป็นคนที่อาจหาญ ร่าเริง ไม่หลับตา ไม่หลีกเลี่ยง แต่กำลังเห็น ค่อยๆ เข้าใจถูก ค่อยๆ รู้ขึ้นทีละน้อยจริงๆ ว่า เป็นเพียงธรรมที่ปรากฏ นอกจากนั้นเป็นคิด จะได้รู้จักตัวคิด หรือโลกของความคิด หรือทางมโนทวารว่า แท้ที่จริงแล้วมโนทวารสร้างเรื่องราวต่างๆ เต็มไปด้วยความนึกคิดถึงสีสันวัณณะ ความทรงจำ ทั้งอดีตก็เอามาผสมกับขณะที่กำลังปรากฏ ชื่อนี้ไม่ลืม คนนี้ไม่ลืม กำลังทำอะไรอยู่ ก็เป็นสิ่งที่ทางใจกำลังปรุงแต่งตลอดเวลา
ด้วยเหตุนี้จึงต้องแยกแต่ละทาง โดยการศึกษาพระอภิธรรมให้รู้ว่า ทางจักขุทวารวิถีกำลังมีปรมัตถธรรมเท่านั้นเป็นอารมณ์ ยังไม่มีการคิดนึกเรื่องสิ่งนั้น หรือทางหูก็กำลังมีเสียงเท่านั้นเป็นอารมณ์ ยังไม่มีการรู้ความหมายของเสียงสูงๆ ต่ำๆ นั้นเลย จะทำให้เราค่อยๆ เห็นความจริงว่า ธรรมเกิดดับสืบต่อจนแยกไม่ออก ถ้าไม่อาศัยสติที่มีความเข้าใจที่ถูกต้องจากการฟัง เริ่มมีการระลึกว่า ขณะนี้เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เพียงหลับตาสิ่งนี้ก็ไม่มี
ค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละน้อยๆ ๆ จนกว่าจะเข้าใจเพิ่มขึ้น ก็จะรู้ว่า ขณะใดเป็นขณะที่นึก เป็นโลกของทางใจหมดเลย ที่เห็นคนกำลังเดิน เป็นโลกของทางใจ เป็นจิตที่คิดเรื่องราว ไม่มีปรมัตถธรรม ไม่มีอ่อนหรือแข็งของคนนั้นที่จะมาปรากฏให้รู้ได้เลย ไม่มีทางค่ะ เพราะว่าอ่อนหรือแข็งจะปรากฏเมื่อกระทบกับกายปสาทเท่านั้น ถ้าไม่กระทบกับกายปสาท คนนี้อ่อน คนโน้นแข็ง คือนึก แต่อ่อนแข็งของคนนั้นไม่มีทางที่จะมาปรากฏทางมโนทวาร เพราะเหตุว่าจะต้องรู้ทางกายปสาท
เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ปรมัตถธรรมจริงๆ ที่มี ก็ตรง ประโยชน์ของการศึกษาพระอภิธรรม ก็คือเราไม่เข้าใจผิด เราสามารถรู้ความต่างของ ๖ ทาง ไม่ใช่โดยชื่อ แต่โดยความเป็นจริงของสภาพธรรม