ไม่ใช่ฟังแล้วจำชื่อ


    พล.ต.ศิลกัล ที่กล่าวว่า เราต้องศึกษาให้รู้ทั่ว ผมขอยกตัวอย่างว่า ที่พระองค์ได้ทรงแสดงนัยขันธ์ ๕ ที่ว่า อดีต อนาคต ปัจจุบัน ใกล้ ไกล ละเอียด ฯลฯ ๑๑ อย่าง ในฐานะที่เราเป็นผู้ศึกษาที่ว่าให้รู้ กับศึกษาให้เข้าใจ ก็ต้องรู้ความละเอียด ความหมายที่พระองค์ได้ทรงแสดงมา ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ คือว่าการศึกษาโดยขั้นปริยัติ หรือโดยปฏิบัติ ศึกษาจริงๆ ไม่ใช่ฟังแล้วจำชื่อ หรือเข้าใจโดยความคิด แต่ไม่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม ทั้งๆ ที่สภาพธรรมขณะนี้ก็คือ จิต เจตสิก รูป กำลังเกิดดับ แต่กำลังเรียน กำลังพูดเรื่องจิต เจตสิก รูป ไม่ว่าจะเป็นภายใน ภายนอก หรืออะไรก็ตามก็เป็นเพียงชื่อ ยังไม่รู้ลักษณะแท้จริงของจิต เจตสิก รูป

    เพราะฉะนั้นจุดประสงค์ของการศึกษาไม่ใช่เพื่อให้ศึกษาเรื่องราว แต่ศึกษา หรือสิกขา ที่เป็นอธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา คือ ศึกษาสภาพที่มีจริงๆ และจะรู้ความละเอียดทั้งหมดที่เรียนมาตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ที่ปรากฏให้รู้ ไม่ว่าจะกล่าวถึงรูป โดยนัยที่เป็นหยาบ ละเอียด ใกล้ ไกล เลว ประณีต ภายใน ภายนอก อย่างไรก็ตามแต่ รูปเป็นจริงอย่างนั้น แต่รูปทุกรูปเกิดดับเร็วมาก

    เพราะฉะนั้นราก็รู้แต่ว่า รูปเป็นจริงอย่างนั้น แล้วก็เกิดดับเร็วมาก แล้วก็ใกล้ไกล แล้วก็หยาบ ละเอียด แล้วก็เลว ประณีต แต่ไม่รู้ลักษณะของรูปสักรูปเดียว เพราะว่าเกิดแล้วดับแล้วขณะนี้ เพียงแต่รู้โดยการฟัง และรูปก็มี แต่ไม่ปรากฏกับอวิชชา

    สภาพปรมัตถธรรมมีจริงๆ แต่อวิชชาไม่สามารถจะรู้ได้เลย ปัญญาขั้นปริยัติก็เพียงแต่เริ่มก้าวเข้าไปสู่เรื่องราวของปรมัตถธรรมด้วยความเข้าใจจากการพิจารณา จากการไตร่ตรอง จากการฟังด้วยดีที่จะรู้ว่า เป็นสภาพธรรมอย่างไร เกิดขึ้นไม่ใช่ตัวตนอย่างไร ดับอย่างไรเท่านั้น แต่การศึกษาแท้จริงคือศึกษาพร้อมสติสัมปชัญญะ ที่กำลังมีลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้รู้ว่า ตรงตามที่ได้ศึกษาทุกอย่าง แม้แต่คำแรกว่า เป็นธรรม ก็คือไม่มีใครไปให้สติเกิด ไม่มีใครให้แข็งเกิด ไม่มีใครให้เห็นเกิด ทุกอย่างมี แต่ที่จะมีได้ ทรงแสดงไว้ในคัมภีร์สุดท้าย คือ ปัจจัย หรือปัฏฐาน

    เพราะฉะนั้นการศึกษาของเรา ก็คือเราเข้าใจปรมัตถธรรม แล้วเรารู้ว่า เรากำลังศึกษาเรื่องที่มีจริง เพื่อที่จะรู้ลักษณะที่มีจริง เพื่อการประจักษ์แจ้งสิ่งที่มีจริง จึงไม่ใช่ทัพพีที่ไม่รู้รสแกง หรือไม่ใช่ใบลานเปล่า เพราะเหตุว่ามีแต่เรื่องราว แต่สภาพธรรมที่มีจริงๆ ขณะนี้ สามารถจะค่อยๆ อบรมปัญญาทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะรู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นความต่างกันของปัญญาระดับฟัง ระดับเข้าใจ กับปัญญาที่เกิดพร้อมสติที่ระลึกลักษณะของสภาพซึ่งเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม แล้วก็เห็นว่า ลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมต่างกัน

    ธรรมก็ต้องไปตามลำดับ เวลาประจักษ์ก็ประจักษ์ตรงตามที่เริ่มฟังเป็นอย่างนี้ เวลาที่จะประจักษ์ก็ต้องประจักษ์เริ่มต้นอย่างนี้ และต้องตรงด้วย และต้องรู้ว่า การที่สภาพธรรมจะปรากฏได้ ๖ ทางจริงๆ ถ้าไม่มี ๖ ทาง ไม่มีทางเลย เช่น ขณะที่นอนหลับสนิท และความหมายของอายตนะ ลองคิดดู กำลังหลับสนิท มีจิต มีเจตสิก มีเพียงแค่ ๒ อย่าง มนายตนะกับธัมมายตนะ อารมณ์ไม่ได้ปรากฏเลย เพราะว่าเป็นอารมณ์ของชาติก่อน ซึ่งไม่ใช่ขณะที่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เราตื่นแล้วรู้ว่าเป็นเรา มีเรา มีโลก มีเพื่อน มีฝูง มีทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะตา เพราะหู เพราะจมูก เพราะลิ้น เพราะกาย เพราะใจ แต่ขณะที่เป็นภวังค์ เป็นจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต เพราะเหตุว่าไม่ได้อาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์เลย โลกนี้ไม่ปรากฏ ความน่าอัศจรรย์ก็คือ สิ่งที่เราคิดว่าเป็นธรรมดา พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าเป็นอายตนะ เสียงเป็นอายตนะภายนอก โสตปสาท อายตนะภายใน

    ทำไมคะสิ่งที่ทุกคนก็มีอยู่ทุกวัน แต่ทรงแสดงอย่างนี้ ก็เพราะเหตุว่าลองคิดถึงความน่าอัศจรรย์ของสภาพธรรม ถ้าเป็นเรานี่ไม่น่าอัศจรรย์เลย ไม่เห็นใครบอกว่า เสียงน่าอัศจรรย์ ได้ยินน่าอัศจรรย์ เพราะเป็นเราได้ยินใช่ไหมคะ แต่ถ้าคิดถึงสภาพที่เป็นธาตุ ไม่มีเจ้าของเลย ธาตุนี้ปรากฏได้อย่างไร ในเมื่อตอนที่ไม่รู้เรื่องเลย ไม่รู้อะไรเลย เป็นภวังค์ ไม่มีอะไรปรากฏ แล้วเกิดมีสภาพนี้ปรากฏ ลองคิดดูซิคะว่า น่าอัศจรรย์ไหม หรือยังไม่น่าอัศจรรย์ แค่เสียงจะอัศจรรย์หรือคะ แต่ความจริงเมื่อกี้ไม่มี แล้วทำไมมี ไม่น่าอัศจรรย์หรือคะว่า ทำไมมีได้ ทำไมปรากฏได้ และเสียงไม่ใช่สี ไม่ใช่กลิ่นด้วย

    เพราะฉะนั้นก็ต้องอาศัยอายตนะ ใช่ไหมคะ ทางของเขาจริงๆ ซึ่งได้แก่ โสตปสาท ซึ่งถ้าขณะนั้นกรรมไม่ทำให้โสตปสาทรูปเกิด เสียงก็ไม่มีทางที่จะปรากฏเลย อายตนะภายนอกจะไม่ปรากฏ ไม่เป็นอารมณ์ แต่ชีวิตก็คือ ไม่เห็นก็ได้ยิน ไม่ได้ยินก็ได้กลิ่น ไม่ได้กลิ่นก็ลิ้มรส ไม่ลิ้มรสก็รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่กระทบสัมผัส ก็คิดนึก

    นี่คือชีวิตวันหนึ่งๆ เพราะฉะนั้นปัญญาต้องรู้ การตรัสรู้คือรู้สิ่งที่มี แต่โดยความน่าอัศจรรย์ของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่มีปัจจัยเกิด ปรากฏ แล้วก็หมดไป แล้วก็เป็นทุกขลักษณะ แล้วเป็นทางให้รู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ จนละคลายความไม่เคยรู้ เพราะความไม่รู้ของเรา ไม่รู้อะไร ก็ไม่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ใช่ไปไม่รู้อื่น ถ้ารู้ก็รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขึ้นกับระดับของความรู้ ความเข้าใจว่า รู้แค่ไหน แต่ต้องเป็นสิ่งที่ปรากฏ แล้วต้องเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานก็รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จะไปรู้สิ่งที่นึกคิดเอาไม่ได้ นั่นเป็นแต่เพียงความนึกคิดทางใจ ซึ่งถ้าไม่นึกคิด สิ่งนั้นก็ไม่มี ที่จะมีคนเดิน คนนั่ง นี่ก็ไม่ได้ แต่เพราะคิดจึงมี มีแค่คิด


    หมายเลข 8291
    24 ส.ค. 2567