เคยชินกับความไม่รู้
ผู้ฟัง อย่างที่ท่านอาจารย์อธิบายว่า ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย สิ่งที่เกิดขึ้นน่าอัศจรรย์ไหม ซึ่งดูแล้วก็ไม่น่าอัศจรรย์ เพราะไม่รู้ เพราะความเคยชิน ที่เราคุ้นกับสิ่งเหล่านี้จนไม่น่าจะเป็นอย่างที่ท่านอาจารย์อธิบาย ต่อเมื่อเริ่มคิดคำพูดว่า น่าอัศจรรย์ไหม ก็ต่อเมื่อเริ่มเข้าใจสิ่งต่างๆ ว่า การเกิดของสิ่งเหล่านี้มีเหตุมีปัจจัย และแต่ละทางก็รับไม่เหมือนกัน ถ้าผู้ใดเริ่มเข้าใจตรงนี้แล้ว และก็เริ่มพิจารณา ก็เริ่มจะเห็นความอัศจรรย์ทีละนิดทีละหน่อย ถูกต้องใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ และปัญญาจริงๆ ที่จะถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ต้องประจักษ์การเกิด และดับด้วย ลองคิดดู เพราะฉะนั้นสำหรับคำว่า “อายตนะ” สำหรับคนที่เข้าใจสภาพธรรมโดยประจักษ์แจ้ง เขาจะรู้ในลักษณะที่เป็นอายตนะ ไม่ใช่ไปจำชื่ออายตนะ
เพราะฉะนั้นก็รู้เลยว่า ถ้าไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่มีนามธรรม ไม่มีรูปธรรม อายตนะจะมีไหม ทุกอย่างที่ทรงแสดงไว้ จะไม่มีถ้าไม่มีปรมัตถธรรม แต่ปรมัตถธรรมหลากหลาย โดยลักษณะ โดยหน้าที่ โดยการเกิดดับสืบต่อ ที่ทรงแสดงไว้ทั้งหมดก็คือ ให้เข้าใจลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม จนกว่าจะรู้จริงๆ เข้าใจจริงๆ ประจักษ์แจ้งจริงๆ ไม่หลงทางไปรู้อย่างอื่น สามารถประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม มิฉะนั้นไม่มีอะไรที่จะไปถอนรากที่ลึกมากของความเป็นตัวตนที่มีอยู่ในแสนโกฏิกัปป์จนมาถึงปัจจุบัน
เพราะฉะนั้นถ้าศึกษาโดยละเอียดจะเห็นว่า ผู้ที่ได้ฟังพระธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ถึงแม้เขาไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมในสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เขาก็ไม่มีความท้อถอย ก็รู้ว่า ปัญญาก็คือสภาพที่สามารถรู้แจ้งความจริง ไม่ต้องการสิ่งที่หลอกลวง ไม่ต้องการคิดเอง เข้าใจเอง แต่ต้องรู้ว่า สภาพธรรมที่มีจริงๆ ทรงแสดงไว้โดยละเอียดอย่างไร ที่จะเข้าใจถึงความไม่ใช่ตัวตน แล้วปัญญาก็ต้องระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ จนกว่าจะประจักษ์ว่า เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมซึ่งเกิดดับ
ผู้ฟัง ยังนึกถึงเมื่อวานที่ไปเยี่ยมคุณป้าชมเชยกับท่านอาจารย์ มีเราอยู่คนเดียวที่มีสภาพจิตขึ้นๆ ลงๆ เราไม่มีสติที่จะเข้าใจว่า เป็นจิต เจตสิก รูปที่ปรุงแต่งของมันเอง พอเราเห็นก็เป็นคุณป้าชมเชย โทสะก็เกิดขึ้น เหลียวดูท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์ก็เฉย มีความรู้สึกว่า ปัญญาของเราไม่เข้าใจสภาพตรงนั้น คนที่เข้าใจสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูป ไม่ว่าข้างนอก ข้างใน ความรู้สึกเหมือนกัน เป็นจิต เจตสิก รูปที่มันปรุงแต่งของมันเอง
ท่านอาจารย์ แต่ต้องเข้าใจลึก และละเอียดกว่านั้นว่า ผู้ที่จะไม่มีโทสะ หรือโทมนัสเลย ต้องเป็นพระอนาคามีบุคคล เพราะฉะนั้นจะดูเพียงภายนอกเผินๆ ไม่ได้