จะพิจารณาสภาพธรรมอย่างไร ๑


    ผู้ฟัง ผมสนใจเรื่องการพิจารณามากๆ คำว่า “พิจารณา” เราพิจารณาอะไร ขณะไหน หลังจากการฟังแล้ว ดูเหมือนง่ายๆ เข้าใจพิจารณาแล้ว สังเกตดูว่า ถ้าสติไม่เกิด สภาพธรรมปรากฏทางทวาร ถ้าเวทนาเกิด ขณะนั้นพิจารณาเวทนาตรงนั้น ไม่ทราบถูกหรือผิด ไม่เข้าใจครับ

    ท่านอาจารย์ สติมีลักษณะอย่างไรคะ

    ผู้ฟัง สติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ แล้วพิจารณาล่ะคะ

    ผู้ฟัง เวลากุศลจิตเกิด หรืออกุศลจิตเกิด จะเป็นโทสะก็ได้ โลภะก็ได้ พอเราได้รับทางมโนทวาร ขณะนั้นเราพิจารณาทางมโนทวาร

    ท่านอาจารย์ พิจารณาอย่างไร

    ผู้ฟัง พิจารณาว่า เป็นสภาวะที่เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ นั่นซิคะ เป็นความคิดใช่ไหมที่ใช้คำว่า “พิจารณา”

    ผู้ฟัง ตรงนี้ที่อยากจะถามว่า เป็นความคิด หรือพิจารณา อยู่ในลักษณะไหน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นมีความสงสัยว่า พิจารณานั่นคือคิดหรืออย่างไร

    ผู้ฟัง ครับ

    ท่านอาจารย์ เวลาคิด คิดเป็นคำหรือเปล่า

    ผู้ฟัง คิดเป็นคำครับ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง โดยปกติแล้วจะไม่คิดถึงลักษณะของสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ เวลานี้มีปัญหาอยู่ที่พิจารณา ที่ว่าจะพิจารณาอย่างไร เพราะฉะนั้นดิฉันก็ถามว่า พิจารณาคือคิดใช่ไหม

    ผู้ฟัง พิจารณาเป็นคิดครับ

    ท่านอาจารย์ ขณะที่คิด ไม่ใช่ขณะที่กำลังระลึกศึกษาลักษณะของปรมัตถธรรม เพราะว่าขณะที่คิด ต้องเป็นคิดถึงคำ เป็นเรื่อง เป็นคำ

    ผู้ฟัง แต่ขณะที่พิจารณาสภาพธรรมจริงๆ ขณะนั้นต้องเป็นการประจักษ์

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ประจักษ์เลยค่ะ ต้องมีลักษณะ

    ผู้ฟัง ลักษณะของเวทนาหรือครับ

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ว่าจะเป็นอะไร แต่เป็นสิ่งที่มีจริง เช่น ทางตา หรือทางหู จักขุทวารวิถีจิตมี ใช่ไหมคะ เห็น หรือโสตทวารวิถี มี ได้ยิน ขณะนั้นไม่ได้คิด ถูกไหมคะ แล้วจิตก็เป็นภวังค์ แล้วปกติธรรมดามโนทวารวิถีก็รู้สิ่งที่เพิ่งดับไปต่อ ไม่ว่าจะเป็นรูปทางตา สี หรือว่าเสียง และต่อจากนั้นวาระหลังๆ ก็เป็นการคิดเรื่องราว หรือชื่อ หรือบัญญัติ ปกติเป็นอย่างนี้ ใช่ไหมคะ นี่เรากำลังพูดถึงปกติ เพราะฉะนั้นก็ให้พิจารณาว่า จริงอย่างนี้หรือเปล่า เช่น ขณะนี้เห็นก็รู้ว่าเป็นคุณวิษณุ เป็นคุณชุมพร เป็นคุณเครือวัลย์ นี่คิดหรือเปล่า

    ผู้ฟัง คิดครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้ เราก็ต้องเข้าใจว่า นี่เป็นทางมโนทวารที่คิด ทีนี้แทนที่จะเป็นคุณชุมพร แทนที่จะเป็นคุณวิษณุ แทนที่จะเป็นคุณเครือวัลย์ จากการฟังแล้วฟังอีก เข้าใจว่า ปรมัตถธรรมไม่ใช่คุณเครือวัลย์ แต่เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ทำให้ขณะนั้นค่อยๆ เข้าใจว่า นี่เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ลักษณะนี้เป็นสภาพที่มีจริง ที่เป็นเพียงสิ่งหนึ่งที่ปรากฏทางตา ค่อยๆ กว่าจะถอนความเป็นคุณเครือวัลย์ คุณวิษณุ คุณชุมพรออก จิรกาลภาวนา โดยรู้ความต่างว่า ขณะนั้นต้องเป็นการรู้ลักษณะ ไม่ใช่การคิด เพราะว่ามีลักษณะให้รู้ ให้เข้าใจว่า ลักษณะนี้มี แต่เป็นลักษณะที่ปรากฏทางตาเท่านั้น

    นี่ค่ะ ความยาก เพราะเหตุว่าข้อความมีในวิภังค์ อรรถกถาว่า อริยสัจ ๔ ลึกซึ้งมาก ๒ อริยสัจแรก ลึกซึ้งจึงเห็นยาก สภาพธรรมนี่เกิดดับ เสียงมี แล้วก็ดับ แล้วก็หมดไป คิดมี แล้วก็ดับ แล้วก็หมดไป เราสามารถจะอนุมาน ค่อยๆ เข้าใจได้ แต่ที่จะประจักษ์นั้นลึกซึ้ง ความลึกซึ้งของการเกิดดับไม่ใช่ใครก็จะไปประจักษ์ได้

    เพราะฉะนั้นทั้งทุกขลักษณะ และสมุทัย เห็นยากเพราะว่าเราชิน อย่างที่กว่าเราจะเห็นว่าเป็นโลภะ กว่าจะเห็นโลภะ เราก็พูด เราก็ถาม เราก็คิดไปมากมายด้วยโลภะ กว่าจะรู้จริงๆ ว่า โลภะเมื่อไร ขณะไหนบ้าง หรือขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ แต่อยากไปทำอย่างอื่น อยากไปใช้สติ หรืออยากจะไปท่อง หรืออยากจะไปทำอะไรก็แล้วแต่ ขณะนั้นจะเห็นไหมว่า เพราะโลภะจึงได้ทำอย่างอื่น ที่ไม่ใช่การค่อยๆ เข้าใจ ฟังเรื่องนี้ให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนกว่าจะค่อยๆ รู้โดยขั้นเข้าใจ จนกว่าสัมมาสติจะระลึก แล้วยังเห็นความต่างของเมื่อระลึกแล้วคิดเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏ กับไม่ได้คิด แต่ค่อยๆ เข้าใจ

    ค่อยๆ เข้าใจนี่จะใช้คำว่า “พิจารณา” จะใช้คำว่า “สังเกต” จะใช้ภาษาบาลี ภาษาอะไรก็ได้ แต่ผลคือค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏขึ้น


    หมายเลข 8293
    24 ส.ค. 2567