จะพิจารณาสภาพธรรมอย่างไร ๒
เพราะฉะนั้นคนที่เริ่มต้นสติปัฏฐาน ก็จะรู้ว่าเป็น “จิรกาลภาวนา” เพราะว่ายากที่จากไม่เคยรู้ แล้วมาค่อยๆ ระลึกได้ แล้วมาค่อยๆ รู้ขึ้น จะใช้พิจารณา จะใช้สังเกต อะไรไม่สำคัญ ผลก็คือค่อยๆ เข้าใจถูกต้องว่า นี่เป็นสิ่งที่ปรากฏ
ตอนแรกเข้าใจทันทีไม่ได้เลย ไม่มีใครที่จะเป็นไปได้ แต่บ่อยๆ เนืองๆ อนุปัสสนา และไม่ใช่ตัวตนที่จะทำด้วย เพราะถ้าจะทำเมื่อไร โลภะพาไปแล้วทันที ไม่เห็นตัวโลภะด้วย เพราะฉะนั้นไม่มีทางรู้แจ้งอริยสัจธรรม ตราบใดที่ยังมีโลภะกั้นอยู่
เพราะฉะนั้นโลภะไม่ได้ไปละความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส แต่ละโลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด ในข้อประพฤติปฏิบัติด้วย เป็นศีลลัพพตปรามาส เป็นทิฏฐุปาทาน ถ้ามีความเห็นผิดว่า สิ่งอื่น ขณะอื่น ทำอย่างอื่น แล้วจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ต้องฟังด้วยความละเอียด ด้วยความเข้าใจ เพื่อเป็นไปด้วยความเข้าใจเพื่อละจริงๆ ไม่ใช่เข้าใจเพื่ออย่างอื่นเลย หรือไม่ใช่ไปพยายามเข้าใจสิ่งที่เราเข้าใจไม่ได้ เพราะพระไตรปิฎกเป็นพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ส่วนไหน ตรงไหนที่มี ฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น อันนั้นคือประโยชน์ แล้วเราก็รู้ว่า จะเข้าใจสิ่งนี้ หรือจะประจักษ์แจ้งสิ่งนี้ หรือจะไปเพียงคิดเรื่องราว แล้วก็คิดว่าเราเข้าใจ คิดว่าเป็นปัญญา แต่ตัวจริงของสภาพธรรมก็ยังเกิดดับ โดยที่เราก็ไปนั่งคิดว่า สภาพธรรมเกิดดับ แต่ไม่ได้ระลึกลักษณะแต่ละลักษณะทีละอย่าง ซึ่งเป็นปฏิปัตติ เพราะว่า ปฏิ แปลว่าถึง ปัตติ แปลว่าเฉพาะ เพราะฉะนั้นถึงเฉพาะแต่ละลักษณะที่สติระลึก สติจะระลึก ๒ อย่างไม่ได้ ต้องระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ทีละอย่าง แล้วค่อยๆ เข้าใจในลักษณะนั้นเพิ่มขึ้น ทีละน้อยมาก จึงเป็นจิรกาลภาวนา แล้วต้องรู้ว่า ความต่างของคิดว่าไม่ใช่ขณะที่กำลังค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ
อย่างเช่นคนที่มีโลภะ ความต้องการมากๆ เคยหยุด เคยพอไหมคะ แล้วเป็นทุกข์ไหม ที่ไม่หยุด ไม่พอ ขณะที่กำลังต้องการ เป็นทุกข์ไหม ต้องการ ขวนขวาย ไม่สบายใจ อยากได้ ทุรนทุราย