มีเราตรงไหน
ผู้ฟัง การระลึกรู้กับสภาวะที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน อย่างจับไมค์ก็รู้สึกว่าแข็ง ก็จะระลึกอยู่อย่างนี้ทุกวัน คือพยายามเท่าที่จะทำได้ อันนี้จะเป็นแนวเจริญสติปัฏฐาน ๔ หรือเปล่าคะ
ท่านอาจารย์ คือต้องทราบว่า อริยสัจ ๔ ลึกซึ้ง ทั้งหมดทั้ง ๔ เพราะฉะนั้นถ้าไม่เข้าใจความลึกซึ้งของมรรคสัจ คือ สติปัฏฐาน สิ่งที่กระทำอยู่ก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะดูง่ายนี่ค่ะ เพียงแต่พยายามๆ ๆ ไปรู้ตรงนั้น ก็เข้าใจว่าเป็นสติปัฏฐาน แต่ว่าอริยสัจ ๔ สองอริยสัจแรกลึกซึ้งจึงเห็นยาก เพราะเหตุว่าทุกขอริยสัจก็คือสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ซึ่งเกิดแล้วดับอย่างรวดเร็วแต่ละอย่าง เราเพียงแต่เข้าใจว่า เสียงเกิดแล้วก็ดับ คิดนึกเกิดแล้วก็ดับ แต่ที่จะประจักษ์จริงๆ ในการเกิดดับ ลึกซึ้งมากจึงเห็นยาก
สำหรับโลภะก็ลึกซึ้ง เพราะอยู่กับเรามานานแสนนาน ตลอดเวลา ขณะใดที่ไม่เป็นกุศล ขณะใดที่ไม่เป็นโทสะ ขณะใดที่ไม่เป็นโมหะ ก็เป็นโลภะ จนไม่รู้จัก ไม่เห็นเลย แม้แต่คำถามว่า “ทำอย่างไรสติถึงจะเกิด” ลองคิดดูซิคะว่า เป็นปัญญาหรือเป็นโลภะ เพราะไม่ใช่เรื่องทำค่ะ ทำไม่ได้ ถ้ามีความเข้าใจมั่นคงว่าเป็นอนัตตา ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ของใคร แม้แต่ปัญญาก็ไม่ใช่ของใคร สติก็ไม่ใช่ของใคร แล้วใครที่ไหนจะทำอะไร ในเมื่อเป็นจิต เป็นเจตสิกแต่ละประเภท
เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมต้องเข้าใจจริงๆ จรดกระดูก หรือว่าโดยตลอด โดยไม่ลืม ถ้าเข้าใจความหมายเบื้องต้นของอนัตตา ก็ทิ้งไม่ได้ ต้องรู้ว่า แม้สติก็เป็นอนัตตาด้วย
เพราะฉะนั้นความละเอียดความลึกซึ้งของมรรคมีองค์ ๘ หรือว่าปกติมี ๕ องค์ ไม่ใช่เรื่องที่ไม่มีปัญญาเลย แล้วจะนั่ง แล้วก็จะทำ แล้วจะให้เป็นมรรค หรือจะดู หรือจะสังเกต ก็ยังคงเป็นเราอยู่ แต่หนทางที่จะบรรลุหรือรู้แจ้งอริยสัจธรรม หนทางเดียว และก็เป็นหนทางละโดยตลอดตั้งแต่ขั้นฟัง แม้แต่ฟังขณะนี้ก็ตั้งจิตไว้ชอบ ที่จะฟังเพื่อละความเห็นผิด ความเข้าใจผิด ความไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม เพราะว่าพระธรรมที่ทรงแสดงลึกซึ้งมาก
เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีความเข้าใจจริงๆ ในมรรคมีองค์ ๘ แล้วจะทำ นั่นคือไม่ใช่ เพราะฉะนั้นถ้ามีการเข้าใจสภาพธรรมเพิ่มขึ้น เราเรียนมาแล้วเรื่องขันธ์ ๕ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ มีเราตรงไหนคะที่จะพยายาม เพราะเหตุว่าแม้วิริยเจตสิกก็เกิดกับจิตเกือบทุกดวง เว้นอเหตุกจิต ๑๖ ดวงเท่านั้นที่ไม่เกิด เพียงแต่นั่งแล้วก็คิด แค่คิด แล้วก็มีความพอใจหรือไม่พอใจก็ตาม ก็มีวิริยะเกิดแล้ว
เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมเพื่อให้ละความเป็นตัวตน แม้ในขั้นฟังให้ละความเป็นตัวตน ยิ่งในการอบรมเจริญปัญญาซึ่งเป็นอีกระดับหนึ่ง ก็ยิ่งละความเป็นตัวตนว่า ไม่ใช่เราที่จะดู ที่จะพยายาม แต่รู้เหตุปัจจัย คือ ในพระไตรปิฎกจะมีข้อความว่า มีสติหรือหลงลืมสติก็รู้ เพราะเหตุว่าที่จะเป็นสัมมาสติได้ สัมมาวายามะได้ สัมมาสังกัปปะได้ สัมมาสมาธิได้ ต้องมีสัมมาทิฏฐิ ต้องเกิดร่วมกับสัมมาทิฏฐิ
เพราะฉะนั้นต้องมีปัญญาจริงๆ ขณะนั้น เวลาที่สติเกิดต้องมีปัญญาที่รู้ว่า ขณะนั้นสติระลึก ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เราจะพยายามระลึก เพราะฉะนั้นกว่าจะดำเนินไปในหนทางนี้พร้อมด้วยการละแต่ละขั้นอย่างละเอียดไปเรื่อยๆ จะต้องรู้เลยว่า สมุทัยสัจเป็นสิ่งที่ควรละ หรือจะต้องละ มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่ถึงนิโรธสัจจะ
เพราะฉะนั้นการศึกษา การเข้าใจ การฟังนี่ต้องละเอียด แล้วต้องรู้ด้วยว่า ขณะไหนเป็นโลภะ ไม่ใช่แล้ว ขณะไหนเป็นเรา ก็ไม่ใช่แล้ว แต่ต้องเป็นการฟังจนกระทั่งเข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม