ไม่มีจิตก็ไม่มีอารมณ์


    ขณะนี้สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เช่น จิตเห็นทำกิจเห็น จิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เรารู้เรื่องรูปธาตุมามาก ใช่ไหมคะ พอใช้คำว่า “ธาตุ” ไม่มีใครไปยึดถือธาตุนั้นว่าเป็นเรา ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ก็พูดกันคล่อง แต่ข้อความในพระไตรปิฎก โทสธาตุ โลภธาตุ โมหธาตุ ธรรมก็คือธาตุ มาจากรากศัพท์เดียวกัน หมายความถึงสิ่งที่มีจริง ทรงไว้ซึ่งสภาพลักษณะที่ไม่เปลี่ยนแปลง เช่น เสียงก็เป็นเสียง จะเปลี่ยนเป็นกลิ่น จะเปลี่ยนเป็นรสไม่ได้ โลภะก็จะเปลี่ยนเป็นโทสะไม่ได้

    เพราะฉะนั้นจิตไม่ใช่เจตสิก จิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ไม่ใช่รูปธาตุ แต่เป็นนามธาตุ เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจเรื่องธาตุที่เป็นรูปว่า ไม่ใช่ของใคร ธาตุที่เป็นนาม ก็ไม่ใช่ของใคร แต่ว่าเป็นธาตุต่างชนิด เพราะว่าธาตุบางชนิดเป็นรูปธาตุ ธาตุบางชนิดเป็นนามธาตุ และธาตุที่เป็นนามธาตุที่เกิด ก็หมายความว่าเป็นธาตุรู้หรือเป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด จะไม่รู้ไม่ได้ เพราะเป็นธาตุรู้ ส่วนรูปซึ่งเป็นรูปธาตุ จะเกิดเมื่อไร ก็ไม่รู้อะไรทั้งนั้น ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เกิดขึ้นมาแข็งก็แข็ง เกิดเป็นเสียง ก็เป็นเสียง เกิดเป็นกลิ่นก็เป็นกลิ่น ไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้ นั่นคือรูปธาตุ แต่เมื่อเป็นนามธาตุเกิดขึ้นแล้ว ธาตุชนิดนี้เมื่อเกิดต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏให้รู้ เช่น ในขณะนี้ทุกคนเห็น มีสิ่งที่กำลังปรากฏเพราะจิต ธาตุรู้นั้นเป็นใหญ่ เป็นประธาน เป็นมนินทรีย์ที่จะรู้ลักษณะของอารมณ์ หรือสิ่งที่ถูกรู้

    สิ่งใดๆ ก็ตามที่จิตกำลังรู้ ในพระพุทธศาสนา ในภาษาบาลีใช้คำว่า “อารมณ์” ในภาษาไทย แต่จริงๆ ต้องออกเสียงว่า “อารัมมณะ” หรือ “อารัมพนะ” หมายความถึงสิ่งซึ่งจิตรู้ อะไรก็ได้ทั้งหมดที่จิตกำลังรู้ สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ของจิต

    เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงอารมณ์ ต้องหมายความว่ามีจิต ถ้าไม่มีจิต สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ไม่ได้ เช่น ถ้าพูดถึงเสียง ภาษาบาลีใช้คำว่า “สัททะ” เสียง แต่ถ้าบอกว่า “สัททารมณ์” หมายความว่าเป็นอารมณ์ของจิตได้ยิน เสียงในป่าเกิดแล้วดับแล้ว มีอายุสั้นมาก ๑๗ ขณะจิต ไม่มีสภาพจิตที่ไปได้ยินเสียงนั้น แต่เสียงใดก็ตามที่กำลังปรากฏ หมายความว่าปรากฏกับจิตที่กำลังได้ยินเสียงนั้น เพราะฉะนั้นเสียงนั้นเป็นสัททารมณ์ของจิตได้ยิน หรือจิตที่เป็นวิถีจิตทางโสตทวาร


    หมายเลข 8302
    23 ส.ค. 2567