ต้องไม่เข้าใจหนทางผิด


    กว่าที่จะดับความยึดถือสภาพธรรมด้วยมรรคจิต ก็ต้องเป็นวิปัสสนาญาณหลายขั้น ไม่ใช่เพียงสติปัฏฐานที่เพิ่งเกิด และเพิ่งระลึกลักษณะของสภาพธรรม แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้องไม่เข้าใจหนทางผิด เพราะว่าถ้าไม่เข้าใจจริงๆ ว่า สภาพธรรมเดี๋ยวนี้ที่มีลักษณะจริงๆ กำลังปรากฏเป็นปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่สติจะระลึกจนกว่าจะรู้แจ้ง ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ก็ไปทำอย่างอื่น เมินเฉยลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ก็ปล่อยไปเรื่อยๆ ไม่มีทางที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมเลย

    แต่ถ้ารู้ว่า ปัญญารู้อะไร ปัญญาต้องรู้สิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ มีจริงเมื่อไร เมื่อปรากฏ เสียงมีจริงเมื่อไร เมื่อปรากฏ สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้มีจริงเมื่อไร เมื่อเห็นสิ่งนี้ สิ่งนี้มีจริงๆ กำลังปรากฏ แต่ว่าปรากฏแล้วไม่รู้ความจริงที่กำลังเกิดดับ ที่เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นถ้าอบรมเจริญปัญญาขึ้น เห็นความเป็นธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรม จนกระทั่งทุกขณะ ในขณะนี้รู้ทั่วว่าเป็นธรรมทั้งหมด ก็สามารถที่จะค่อยๆ คลายความติดข้อง ความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้น

    เพราะฉะนั้นถ้าศึกษาอดีตของผู้ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ท่านอบรมมานาน และเราอย่าคิดว่า เราได้อบรมมานานแล้วมาก เพราะเหตุว่าธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นเครื่องตัดสิน เป็นเครื่องพิสูจน์ปัญญาของเรา ถ้าเป็นผู้ที่อบรมมามาก ถ้าฟังเข้าใจความหมายของปรมัตถธรรม หรือสภาพธรรม หรือสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ เป็นสิ่งที่ปัญญาจะต้องอบรมจนกระทั่งรู้แจ้ง เข้าใจได้เลย ไม่ต้องมีใครที่จะต้องพูดแล้วพูดอีกในเรื่องของปรมัตถธรรม แต่สามารถจะรู้ความหมายลักษณะแท้ๆ ว่า เป็นธรรม เป็นปรมัตถธรรม และเมื่อได้ฟังธรรมข้อหนึ่งข้อใด ก็สามารถจะรู้ชัดว่า หมายความถึงปรมัตถธรรมในขณะนั้นที่กำลังมี เช่นคำว่า “อายตนะ” ดูเหมือนว่าเป็นภาษาบาลี เป็นที่ต่อ ที่ประชุม เป็นบ่อเกิดของสังสารวัฏฏ์ ของสภาพธรรมที่มีปัจจัยก็เกิดขึ้น เช่น สิ่งที่ไม่มี กำลังหลับสนิท ขณะนั้นไม่มีใครรู้ว่ามีจิต และเจตสิก เป็นมนายตนะ และธัมมายตนะ เพราะว่าขณะนั้นอารมณ์ใดๆ ไม่ปรากฏ แม้ขณะของภวังคจิตก็รู้ภวังคจิตเองไม่ได้ แต่ต้องเป็นขณะที่กุศลจิตเกิด ประกอบด้วยปัญญาสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งขณะนั้นไม่มีสภาพธรรมใดปรากฏ แล้วก็มีสภาพธรรมปรากฏ คนนั้นสามารถจะรู้ได้ว่า อะไรเป็นทาง เป็นอายตนะ ตรงนั้นที่เกิด ที่จะทำให้สภาพธรรมนั้นมี และปรากฏได้

    นี่คือการที่เราเคยได้ยินชื่อ แต่เราไม่รู้ตัวจริง จนกว่าสติปัฏฐานจะเกิด แต่ไม่ใช่พอสติปัฏฐานเกิดแล้วจะรู้อย่างนี้ ต้องเริ่มจากการระลึกลักษณะที่มี และตอนแรกก็จะอดสงสัยไม่ได้ว่า นี่นามธรรมหรือรูปธรรม ถึงไม่สงสัยโดยชื่อ ไม่ต้องคิดขึ้นมา แต่ก็ยังไม่รู้ชัดในลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม จนกว่าสติปัฏฐานจะระลึกบ่อยๆ และก็รู้ว่า บ่อยๆ ที่นี้คือ เมื่อไรค่อยๆ รู้ นั่นก็เพราะการระลึกบ่อยขึ้นๆ นั่นเอง แต่ไม่ใช่ว่าเมื่อระลึกแล้วรู้ทันที ไม่มีใครสามารถจะเป็นอย่างนั้นได้ เพราะเหตุว่าทรงแสดงไว้ว่า เป็นจิรกาลภาวนา เป็นการอบรมเป็นกาลเวลาที่ยาวนานมาก กว่าจะรู้ความจริงอย่างนี้ได้ แต่เป็นหนทางเดียว เพราะว่าเพียงสติไม่ระลึกเท่านั้น สภาพธรรมใดๆ จะปรากฏลักษณะจริงๆ ของสิ่งนั้นไม่ได้

    เพราะว่าแข็งมี เรากระทบแข็งตั้งแต่เช้า แต่รู้ได้ใช่ไหมคะว่า หลงลืมสติ เพราะว่าไม่ได้ระลึกลักษณะที่แข็ง แต่ทันทีที่แข็งปรากฏ ก็เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นแก้วน้ำ เป็นทุกอย่าง นั่นคือหลังจากที่แข็งปรากฏทางมโนทวารสืบต่อทางกายทวารแล้วก็คิดเรื่องราวของแข็ง แต่แทนที่จะคิดเรื่องราว ความรวดเร็วของสติที่เกิดก็ระลึกลักษณะนั้น แล้วก็ดับอย่างเร็ว เพราะฉะนั้นทุกคนก็จะบอกว่า สติเกิดน้อยมาก แต่ก็ยังดีที่รู้ความต่างของขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด กับขณะที่หลงลืมสติ

    เพราะฉะนั้นต้องไม่หลงทาง ต้องมีความมั่นคงที่จะรู้ว่า สภาพธรรมในขณะนี้เป็นของจริงที่ปัญญาสามารถอบรมรู้แจ้งจนถึงอริยสัจได้ มิฉะนั้นก็จะทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่หนทางที่ทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ


    หมายเลข 8313
    23 ส.ค. 2567