ถ้าสติไม่ระลึก ทั้งหมดคือชื่อ


    พล.ต.ศิลกัล เมื่อกี้นี้ผมอาจจะฟังไม่ทันที่ท่านอาจารย์อธิบายเรื่องอริยสัจ ๓ รอบ

    ท่านอาจารย์ รอบที่ ๑ คือ สัจญาณ จะต้องมีความเข้าใจตั้งแต่ทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ และมรรคสัจ ต้องเข้าใจทั้ง ๔ ให้ตรง ให้ถูก เพราะว่าแม้แต่มรรคสัจ ไม่ใช่จะเข้าใจได้โดยง่ายเลย กว่าจะพูดกันให้เข้าใจว่า ต้องเป็นสติปัฏฐาน สติปัฏฐานระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม เราไม่ได้ห้ามความคิดเลย ไม่ใช่ห้ามไม่ให้รู้ว่าเป็นซากศพ ไม่ใช่ห้ามไม่ให้รู้ว่าเป็นคน แต่ให้รู้ความต่างของสภาพธรรมว่า ถ้าเป็นสภาพธรรมทางตา ทรงแสดงไว้โดยวิญญาณธาตุ ๗ ว่า จักขุวิญญาณธาตุจะเห็นเท่านั้น นี่ก็แยกให้เห็นชัดประกอบกัน โสตวิญญาณธาตุ คือจิตที่ได้ยิน ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายวิญญาณธาตุ ต่อจากนั้นก็เป็นมโนธาตุ มโนวิญญาณธาตุ ธรรมธาตุ

    นี่ก็แสดงให้เห็นชี้ชัดลงไปแต่ละธาตุว่า ขณะใดเป็นจักขุวิญญาณธาตุ นอกจากนั้นเป็นมโนธาตุ และมโนวิญญาณธาตุ ถ้าเป็นเจตสิก และสภาพธรรมอื่นจากนี้ก็เป็นธรรมธาตุ

    นี่ค่ะ แสดงธาตุโดยตลอด แต่ถ้ายกมาเฉพาะวิญญาณธาตุ ก็ได้วิญญาณธาตุ ๗ โดยสรุป แต่โดยละเอียดแล้วก็แตกย่อยไปละเอียดมาก ทุกขณะ ประมาณไม่ได้ แต่ด้วยพระปัญญาคุณ แม้ว่าจิตจะละเอียดในอดีต ปัจจุบัน อนาคต วิจิตรมากมายอีกเท่าไร ก็ประมวลลงในจิต ๘๙ ประเภท แต่ความหลากหลายนั้นมากมาย ถ้าเอาชื่อไปใส่ ก็เป็นบุคคลต่างๆ อัธยาศัยต่างๆ ความจริงก็คือจิตที่สะสมสืบต่อ มีโลภะมาก หรือมีโทสะมาก มีความเห็นถูกมาก หรือมีความเห็นผิด มีความเมตตามาก หรือมีความริษยามาก ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่สะสมสืบต่อเป็นแต่ละคนๆ

    พล.ต.ศิลกัล เมื่อวานได้ฟังคร่าวๆ เรื่องของขันธ์ ๕ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโดยนัยขันธ์ ๕ ที่ทรงแสดงให้สาวกเพื่ออะไรครับ

    ท่านอาจารย์ ปรมัตถธรรม เริ่มต้นจากธรรม ปรมัตถธรรม อภิธรรม แยกให้เห็นออกไปให้ละเอียดออกไปอีกเป็นขันธ์ ๕ เป็นอายตนะ เป็นธาตุ เป็นอริยสัจจะ เป็นปฏิจจสมุปปาท ไม่พ้นจากปรมัตถธรรมเลย

    ถ้าฟังนิดเดียว นามธรรมรูปธรรม ละกิเลสได้ไหม ต้องแสดงมากมายมหาศาลกว่านั้นค่ะ กว่าจิตใจของผู้อบรมเจริญปัญญาจะค่อยๆ สะสมความเข้าใจ ค่อยๆ คล้อยตามปริยัติที่ได้ศึกษา เพราะเหตุว่าปฏิบัติกับปฏิเวธต้องตรงกับลักษณะของสภาพธรรม

    พล.ต.ศิลกัล ทีนี้ที่พระองค์ทรงกล่าวว่า จำแนกออกเป็นสภาพธรรม ๑๑ ลักษณะ เวลาอ่านก็เป็นแค่จำ เช่น มีอดีต อนาคต ปัจจุบัน

    ท่านอาจารย์ แต่เข้าใจได้ เช่น ขันธ์ พยัญชนะ หมายถึง กอง กองอะไรคะ กองดอกมะลิ กองข้าวสาร ไม่ใช่ กองหรือประเภทของรูป

    เพราะฉะนั้นรูปทุกชนิด ไม่ว่ารูปในอดีต ก็เป็นรูป จะเป็นอื่นไม่ได้ รูปขณะนี้ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นรูป จะเป็นอื่นไปไม่ได้ สีสันวัณณะที่ปรากฏ ที่จะมีจิตเห็นข้างหน้าต่อไป ก็คือรูปสีสันวัณณะ จะเป็นอื่นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้นรูปขันธ์ ไม่ว่าในอดีต ปัจจุบัน อนาคต เป็นนามธรรมไม่ได้ เป็นรูปขันธ์ และรูป เราลองคิดดู รูปที่น่าพอใจก็มี รูปที่ไม่น่าพอใจก็มี คือ รูปทราม หรือรูปประณีต รูปหยาบ หรือรูปละเอียด คือทั้งหมดทรงแสดงว่า รูปโดยประการทั้งปวงในอดีต ปัจจุบัน อนาคต หลากหลายอย่างไรก็คือรูปขันธ์ ความจริงคือรูป ไม่ใช่เรา ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้านี่ไม่ใช่เรา จะเป็นตา จะเป็นคิ้ว จะเป็นจมูก จะเป็นปาก จะเป็นอะไร ก็ไม่ใช่เรา ก็เป็นรูป ซึ่งบัญญัติแล้วแต่จะแสดงโดยนัยใด ถ้าโดยนัยของสมถภาวนา ก็เป็นความไม่งาม ปฏิกูลมนสิการ ในสภาพที่ไม่งาม

    พล.ต.ศิลกัล ขณะเดียวกัน เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ ก็แสดงถึงลักษณะของสภาพธรรม เรื่องของจิตกับเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ที่หลากหลาย ถึงหลากหลายอย่างไร ก็คืออดีตโสมนัสก็มีลักษณะเหมือนโสมนัสปัจจุบัน หรือโสมนัสข้างหน้า โทมนัสสาหัสขณะนี้ ในอดีตก็เหมือนกัน ข้างหน้าก็เหมือนกัน ก็เป็นโทมนัส ก็แสดงตามความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ

    ไม่ใช่เรา แต่เป็นขันธ์ แต่ไม่ยอมเป็นขันธ์ เป็นเรา ก็ต้องฟังอีกนาน แล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้นๆ อย่ามุ่งไปหวังที่จะให้สติปัฏฐานเกิด เพราะสมุทัยสัจอยู่ตรงนั้น ถ้ามีปัญญา ความเห็นถูก เขาจะพาไปไหน ก็พาไปสู่ความเห็นถูกยิ่งขึ้น เท่าที่ได้ฟังมาผิดตรงไหน ถ้าผิด ก็ไม่สามารถพาไปสู่ความเห็นถูกได้ แต่เมื่อถูก ก็คือเมื่อฟังแล้วเข้าใจ ก็จะนำไปสู่ความเข้าใจขึ้นๆ จนถึงรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    พล.ต.ศิลกัล ที่ว่า ใกล้ ไกล สภาพธรรมเป็นอย่างไรครับ

    ท่านอาจารย์ โดยลักษณะที่ว่าสามารถจะรู้ได้ง่าย กับสามารถรู้ได้ยาก ถ้าอ่านเอง ขอสนับสนุนให้ทุกคนศึกษา อ่านพระไตรปิฎก และอรรถกถา จะมีข้อความอีกมากที่แสดงโดยละเอียด อยากรู้ตรงไหนไปดู จะมีหมดเลย ขันธ์โดยหยาบ โดยละเอียด โดยใกล้ ไกล ทราม ประณีต และเวทนาอย่างไร นับว่าเป็นหยาบ อย่างไรนับว่าเป็นละเอียด อย่างไรนับว่าเลว อย่างไรนับว่าประณีต เขาจะบอกไว้หมดเลย ใกล้ ไกล คืออย่างไร

    แต่ทั้งหมด คือ ชื่อ ถ้าไม่รู้ ถ้าสติไม่ระลึก

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมแม้มีจริง เพียงขั้นการศึกษาเป็นระดับของปริยัติ และถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน เข้าใจผิดได้


    หมายเลข 8319
    23 ส.ค. 2567