ทำไมสติปัฏฐานจึงมี ๔
พระคุณเจ้า ตามที่คุณโยมได้บรรยายธรรมมา ว่าด้วยสติปัฏฐาน ๔ แล้ว เราควรจะตั้งอยู่ในบรรพไหน
ท่านอาจารย์ สติเป็นโสภณเจตสิกเกิดกับโสภณจิตทั้งหมด แต่เวลาที่เป็นสติปัฏฐาน หมายความถึงสติที่ระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง เพราะทางที่จะรู้อารมณ์หรืออารมณ์จะปรากฏได้ไม่เกิน ๖ เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด สติปัฏฐานระลึกได้ เพราะว่าก่อนนั้นที่สติปัฏฐานไม่เกิด ไม่รู้ความจริง และก็เป็นเรา แต่ความจริงเป็นสภาพธรรม
เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ว่า เป็นสภาพธรรมได้ก็เมื่อสติเกิดระลึก เพื่อที่จะได้เข้าใจให้ถูกต้องในลักษณะของธรรมนั้นๆ ว่า เป็นรูปธรรมหรือเป็นนามธรรมเจ้าค่ะ
พระคุณเจ้า ตามที่เราได้ศึกษาตามคัมภีร์ ก็จะพบว่า หลักการหรือการใส่ใจในสติปัฏฐานจะมีข้อแตกต่างกัน อย่างเช่นว่า อานาปานสติ หรืออิริยาบถบรรพ สัมปชัญญะบรรพก็จะมีความแตกต่างจากจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะว่าธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานมีความหลากหลายมาก ก็ยังสงสัยว่า ที่คุณโยมบรรยาย เราควรจะไปค้นคว้าต่อในบรรพไหนดี ยังมีบางส่วนที่ยังไม่เข้าใจ
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วพระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมดเป็นเรื่องของปรมัตถธรรมหลากหลายโดยนัยต่างๆ แต่พอพูดถึงหมวดของสติปัฏฐาน หมายความถึงเมื่อสติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้นพร้อมด้วยสัมมาทิฏฐิ และมรรคมีองค์อื่น ซึ่งปกติจะเป็น ๕ องค์เจ้าค่ะ
ข้อความที่มีในสติปัฏฐานทั้งหมดต้องเป็นปรมัตถธรรม แต่ว่าก่อนนั้นไม่รู้ว่าเป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้นก็เป็นเรานั่ง เรานอน เรายืน เราเดิน หรือเราหายใจ หรือส่วนของกายที่เน่าเปื่อย เป็นซากศพก็ยังคิดว่าเป็นร่างกาย
เพราะฉะนั้นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งหมดก็คือบรรพซึ่งระลึกรู้ธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย จึงเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่ที่จริงก็เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ทั้งหมดเจ้าค่ะ
พระคุณเจ้า แล้วความแตกต่างระหว่างกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน แสดงว่าเมื่อเราประมวลลงในธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานแล้ว ทำไมจึงต้องแสดงกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานด้วย
ท่านอาจารย์ ตามการยึดถือเจ้าค่ะ เพราะว่าขณะใดที่ยึดถือรูปที่กายว่าเป็นเรา จริงหรือเปล่าคะ ก่อนที่สติจะเกิดยึดถือรูปที่กายว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้นขณะที่มีการยึดถือรูปที่กาย แล้วสติระลึกที่กายที่ยึดถือ ก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
พระคุณเจ้า และถ้าเราใส่ใจเฉพาะกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จะถือว่าเราเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานด้วยไหม
ท่านอาจารย์ คือสภาพของรูปที่รู้ได้ทางกาย ไม่ว่าจะเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ตาม ก็คือ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ถูกต้องไหมเจ้าคะ
สภาพของรูปใดๆ ก็ตาม เรายังไม่ต้องพูดถึงชื่อว่า อนุปัสสนาบรรพไหน แต่จะพูดถึงสภาพธรรมที่จะรู้ได้ทางกาย ไม่ว่าจะใช้คำว่า กายานุปัสสนา จะใช้คำว่า ขันธ์ รูปขันธ์ในธัมมานุปัสสนาก็ตามแต่ จะใช้คำว่า “อายตนะ” คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ก็เป็นโผฏฐัพพายตนะก็แล้วแต่ เราจะไม่พูดถึงชื่อ แต่จะพูดถึงสภาพธรรมว่า ขณะใดที่มีการระลึกที่กาย ที่กายปสาท ซึ่งเป็นทางหนึ่งใน ๖ ทาง ขณะนั้นสิ่งที่มีจริงๆ ที่ปรากฏ ก็คือ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ถูกไหมเจ้าคะ
เพราะฉะนั้นถ้าระลึกที่กายซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นเรา และลักษณะที่ปรากฏกระทบกับกายปสาทก็คือ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยนัยที่เมื่อยึดถือที่กาย ระลึกที่กาย สภาพธรรมที่กายก็ปรากฏ แต่สิ่งอื่นที่ไม่ใช่กาย แต่ก็มีลักษณะที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ขณะนั้นก็ไม่ใช่ต่างจากรูปที่กายเลย คือ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวนั่นเอง แต่เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เมื่อระลึกลักษณะของสภาพธรรมตรงอื่นที่ไม่ใช่ตรงกาย