มีศีลแต่ไม่มีปัญญาก็ได้


    พระคุณเจ้า ถ้าเป็นอย่างนั้น พระสูตรหลายสูตร ท่านเรียงลำดับของการปฏิบัติไว้ อย่างเช่นบุคคลที่มีศรัทธา ได้ฟังธรรมแล้วเกิดศรัทธา เกิดหิริ โอตตัปปะ เป็นผู้ที่ปฏิบัติตามศีล และเมื่อปฏิบัติตามศีลแล้ว ไม่เกิดความร้อนใจ ไปจนถึงสมาธิ ถึงญาณทัสสนะ อย่างนี้คุณโยมมีความเห็นว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นชีวิตจริง ไม่มีใครกระโดดไปได้จากวันนี้ ซึ่งเป็นผู้ไม่มีศีล แล้วจะไปรู้แจ้งอริยสัจธรรม คนที่มีปัญญาจะมีศีลไหม แต่คนที่มีศีลเท่านั้น จะมีปัญญาไหม

    เพราะฉะนั้นนี่ก็แสดงอยู่แล้วว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา ที่เป็นประโยชน์ของชีวิตสูงสุด คือ ปัญญา เพราะแค่ศีล ศาสนาไหนก็มีได้ ความประพฤติตามโรงเรียนก็บอกอยู่แล้ว ใช่ไหมคะ ประพฤติดีเป็นอย่างไร ละชั่ว ไม่ขโมย ไม่พูดปด นั่นก็เป็นเรื่องของศีล แต่ว่าเขาเป็นผู้ที่รู้แจ้งสภาพธรรมตามคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนเพียงศีล ถ้าสอนเพียงศีล ไม่ต้องเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้สอนเพียงสมาธิ ถ้าเพียงสมาธิก็ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ทรงสอนหนทางที่จะทำให้ผู้ฟังเกิดปัญญา ความเข้าใจถูก ซึ่งเป็นจิรกาลภาวนา ความไม่รู้แสนนานในแสนโกฏิกัปป์ และในวันนี้ตั้งแต่เกิดจนถึงเดี๋ยวนี้ มากมายมหาศาลแค่ไหน จากไม่รู้ และอกุศล และกว่าจะค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่มีจริง ต้องอาศัยการฟังอย่างมาก ถ้าศึกษาประวัติของพระสาวก ไม่น้อยเลยเจ้าค่ะ แสนกัปก็มี แล้วทำไมเราจึงคิดว่า ต้องทำอย่างโน้น ทำอย่างนี้ ชีวิตจริงๆ ถ้ามีปัญญาแล้วก็จะพร้อม ต้องมีศีลด้วย คนที่มีปัญญาจะเข้าใจสภาพธรรมในขณะที่วิรัติด้วยว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ที่ฟังพระธรรม รู้ว่า พระธรรมจากการตรัสรู้นั้นคืออะไร และหนทางที่อบรมที่จะเกิดปัญญานั้นคืออย่างไร แต่ชีวิตจริงๆ ก็ต้องเป็นผู้ที่มีกายวาจาเป็นไปในทางสุจริตด้วย เพราะเหตุว่าขณะนั้นเป็นกุศลจิต ไม่ส่งเสริมอกุศลประเภทไหนทั้งสิ้นเจ้าค่ะ

    พระคุณเจ้า อย่างศีลตามที่สอนกันทั่วๆ ไป ก็ไม่ได้มุ่งถึงการขัดเกลากิเลสหรือความเชื่อในส่วนที่เป็นกัมมสกตาปัญญา แต่สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงมุ่งหมายในการเป็นพื้นฐานในการบรรลุธรรม

    ท่านอาจารย์ เจ้าค่ะ ถ้าใช้คำว่า “ปัญญา” อย่าลืมนะคะ ความรู้ระดับไหน รู้อะไร ถ้าไปเรียนหนังสือจบมหาวิทยาลัย ปริญญาเอก เป็นปัญญาเจตสิกหรือเปล่า ในเมื่อไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ

    เพราะฉะนั้นถ้าใช้คำว่า “กัมมสกตาปัญญา” คนที่เชื่อกรรม และผลของกรรม เชื่อเบื้องต้นคือเชื่อในเหตุ และผล แต่ยังไม่รู้ว่า กรรมคืออะไร ยังไม่รู้ว่า ผลของกรรมคืออะไร เพียงแต่กล่าวว่า กรรมมี และผลของกรรม มี ก็เชื่อตามเหตุตามผล แต่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ละเอียดมาก จนกระทั่งรู้ว่า กรรม ได้แก่ เจตนาเจตสิก ความจงใจ ตั้งใจที่จะประทุษร้าย เบียดเบียนคนอื่น มีการกระทำที่สำเร็จไปแล้ว แม้ว่าจะผ่านพ้นไปนานแสนนาน แม้แต่พระองค์เองในพระชาติสุดท้ายก็ยังได้รับผลของกรรม

    เพราะฉะนั้นเมื่อกรรมเป็นเจตนา ซึ่งเป็นกัมมปัจจัย สืบต่ออยู่ในจิตทุกๆ ขณะ พร้อมที่เมื่อถึงกาลที่จะให้ผล คือ วิบากจิต เป็นจิตที่เป็นผล เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตที่เป็นอกุศลดับไป ก็เป็นปัจจัยให้เจตนาเจตสิก และเจตสิกอื่นๆ และจิตซึ่งเป็นวิบากเกิดขึ้นเป็นผลของกรรม เมื่อไร ขณะแรกที่เกิดในโลกนี้ ห้ามไม่ได้เลย บอกไม่ได้เลย จงใจไม่ได้เลยว่า จะเกิดที่ไหน กับครอบครัวใด ขณะที่เป็นภวังค์ ที่ทุกคนหลับสนิท ก็ห้ามไม่ได้ว่าไม่ให้หลับ และถึงเวลาก็บอกไม่ได้ว่า อย่าตื่น เมื่อมีปัจจัยก็ต้องตื่น คือ กรรมให้ผล ทางตา เห็น ทางหู ได้ยิน ทางจมูก ได้กลิ่น ทางลิ้น ลิ้มรส ทางกาย รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    นี่คือเหตุผลที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น คนที่ไม่ได้ศึกษาธรรม ก็เพียงเชื่อกรรม และผลของกรรม ผู้ใหญ่บอกว่าบาปจะได้ผลร้าย บุญ ทำเสีย แล้วจะได้ผลดี ก็ไม่รู้ว่าผลดีเมื่อไร ผลร้ายเมื่อไร เป็นจิต หรือเป็นเจตสิก หรือเป็นสภาพธรรมก็ไม่รู้ คิดว่าเป็นเรา แต่เมื่อศึกษาตามลำดับขั้นของความเข้าใจ ก็เข้าใจเพียงลำดับขั้นนั้น คือ เจตนาเป็นกรรม และผลของกรรมก็คือจิตที่เป็นวิบากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

    กำลังเห็น เป็นธาตุรู้หรือสภาพรู้ คนนั้นเข้าใจถึงความเป็นอนัตตาว่า ไม่มีใครบังคับบัญชา ไม่มีใครสร้างภาพชนิดนี้ได้ แต่เป็นนามธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อมีปัจจัยก็เกิดทำกิจนี้แล้วก็ดับไป แล้วหลังจากนี้แล้วก็จะมีความชอบ ไม่ชอบในสิ่งที่เห็น ลักษณะของความชอบไม่ชอบ ไม่ใช่เห็น เพราะฉะนั้นการเห็นยับยั้งไม่ได้ แล้วแต่กรรม ผู้นั้นก็จะมีความเข้าใจว่า กัมมสกตาปัญญาก็คือขณะที่สติระลึก และลักษณะของสภาพที่เป็นวิบากที่เป็นผลของกรรม ก็ทำให้รู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่บังคับบัญชาไม่ได้ แต่เห็นแล้ว แล้วแต่การสะสมอีก อุปนิสสยปัจจัยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเห็นแล้ว ชอบสิ่งนี้ ไม่ชอบสิ่งนั้น บางคนก็ชอบสีขาว ไม่ชอบสีแดง บางคนก็ชอบสีฟ้า ไม่ชอบสีชมพู ก็แล้วแต่การสะสม แม้รส จะจืด จะหวาน จะมัน จะเค็มก็เป็นอุปนิสสยะ ซึ่งเมื่อสะสมบ่อยๆ จนกระทั่งมีกำลัง คือเป็นปัจจัยให้โลภะประเภทนั้นเกิด หรือโทสะประเภทนั้นเกิด ด้วยสติสัมปชัญญะที่ระลึกสภาพธรรม คนนั้นจะมีความเข้าใจในกัมมสกตาญาณ ตั้งแต่ต้นไปจนกระทั่งถึงญาณขั้นสูงๆ ก็จะไม่พ้นเลยที่จะเข้าใจเรื่องกัมมสกตาญาณ ไม่ใช่เพียงชื่อ ไม่ใช่เพียงเรื่อง ไม่ใช่เพียงคำ แต่มีสภาพธรรมจริงๆ ที่ปรากฏให้รู้ว่า เป็นปัญญาที่รู้กรรม เพราะว่าเป็นตัวธรรมจริงๆ ที่เป็นผลของกรรมที่ระลึก


    หมายเลข 8328
    23 ส.ค. 2567