พื้นฐานของปัญญาไม่ได้มาจากทาน - ศีล


    ผู้ฟัง ฟังดูแล้วศีลก็ดี สมาธิก็ดี เป็นพื้นฐานที่จะทำให้เจริญปัญญา

    ท่านอาจารย์ เป็นกุศลค่ะ ที่ควรเจริญทุกอย่าง แต่ผู้ที่มีศีล แต่ไม่มีปัญญา ไม่สามารถมีปัญญาเพียงมีศีล หรือผู้ที่มีความสงบของจิต แต่ไม่รู้หนทาง ไม่เข้าใจปรมัตถธรรม เพียงสมาธิก็ไม่สามารถรู้สภาพธรรมได้

    ผู้ฟัง แต่อย่างไรก็ตาม พิจารณาดูแล้ว ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ก็มีปัญญาอยู่ในระดับหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ไม่ค่ะ ขณะที่วิรัติทุจริต หรือกุศล กุศลมี ๒ ชนิด กุศลที่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับกุศลที่ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นการที่ผู้มีศีลก็ดี ผู้มีสมาธิก็ดี ก็เป็นผู้กุศลศีล เมื่อมีกุศลศีลเกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นพื้นฐานให้เกิดปัญญา

    ท่านอาจารย์ เมื่อไรกุศลศีลนั้นจะเป็นพื้นฐานให้มีปัญญา นี่ต้องแยกนะคะ ทุกชาติ ทุกภาษา ทุกอัธยาศัย คนเราเกิดมาอัธยาศัยต่างกันตามการสะสม บางคนมีทานุปนิสัย เขาเคยให้ทานบ่อยๆ เพราะฉะนั้นเขาเลยให้ทานง่าย สะดวก พอเห็นคนที่ยากไร้ หลายๆ คนเห็น คนนั้นไว พร้อมที่จะให้ได้ทันที เร็วด้วย ไม่รีรอ บางคนก็เรื่องของศีล วิรัติทุจริตทางกาย และทางวาจาด้วย จะไม่พูดสิ่งที่ไม่จริง จะพูดสิ่งที่เป็นประโยชน์ จะไม่พูดเรื่องที่ไร้สาระ เพราะอัธยาศัยสะสมมา

    เพราะฉะนั้นเมื่อสะสมมาแล้ว ก็ทำให้มีอุปนิสสยะต่างๆ ตามอุปนิสสยปัจจัย แต่ถ้าเขาไม่สะสมปัญญามาเลย มีศีลถึงขั้นไหน มีความสงบถึงขั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ ซึ่งเป็นอรูปฌานขั้นสูงสุด แต่ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม คนนั้นก็ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    เพราะฉะนั้นเราต้องรู้ว่า ทาน ศีล เป็นเรื่องของการสะสม และถ้าผู้นั้นมีจิตสงบ เช่น มีเมตตา หรือมีกรุณา แม้ว่าเกิดกับจิต ยังไม่ได้ล่วงออกไปที่จะเป็นการกระทำทางหนึ่งทางใด แต่ขณะนั้นก็เป็นความสงบของจิต แต่ไม่ใช่ความรู้ความเข้าใจสภาพธรรม มิฉะนั้นทุกคนก็ไม่ต้องอาศัยพระธรรมที่ทรงตรัสรู้ และทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรม เพียงมีทานมากๆ มีศีลมากๆ มีความสงบ ก็รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่เป็นไปไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการฟังธรรม เริ่มจากการฟังธรรม แล้วถึงจะมีความเข้าใจที่ถูกต้องได้ว่า ปัญญานั้นรู้อะไร ปัญญาระดับสมถะ ไม่ใช่ปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน แต่ปัญญาระดับสมถะประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ที่สามารถรู้ลักษณะของจิตที่เป็นอกุศล จะเป็นอกุศลประเภทกามฉันทะ พยาปาทะ หรือว่านิวรณ์อื่นๆ สติสัมปชัญญะสามารถรู้ แต่เป็นเรา แต่เขาสามารถรู้ว่า ขณะใดกุศลสามารถเกิดได้เมื่อระลึกถึงสิ่งที่ทำให้กุศลจิตเกิดบ่อยๆ มั่นคงขึ้น เมื่อกุศลจิตมั่นคงขึ้น ความสงบก็มากขึ้น

    เพราะฉะนั้นสมาธิไม่ใช่ความสงบ สมาธิเป็นเอกัคคตาเจตสิก ไม่ใช่ปัสสัทธิเจตสิก เพราะฉะนั้นในโพธิปักขิยธรรม พอถึงโพชฌงค์ จะมีทั้งที่เป็นสมาธิสัมโพชฌงค์ และปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ซึ่งทั้ง ๒ อย่าง ไม่ใช่อย่างเดียวกัน

    เพราะฉะนั้นก็ต้องมีความเข้าใจถูกตั้งแต่ต้น ต้องศึกษาให้เข้าใจจริงๆ


    หมายเลข 8329
    23 ส.ค. 2567