อย่าเพียงพอใจกับคำว่า สมาธิ


    พระคุณเจ้า แค่ไหนถึงจะเรียกว่า สัมมาสมาธิ แค่ไหนจึงเรียกว่า มิจฉาสมาธิ

    ท่านอาจารย์ ขณะใดเอกัคคตาเจตสิกเป็นสภาพที่มีอารมณ์เดียว

    พระคุณเจ้า เป็นสัมมาสมาธิหรือมิจฉาสมาธิ

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบก่อนว่า สมาธิเป็นปรมัตถธรรมอะไร ปรมัตถธรรมที่เป็นสมาธิ ได้แก่ เจตสิกหนึ่ง คือ เอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพของเจตสิกที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งเท่านั้น ขณะเห็นก็มีเอกัคคตาเจตสิกที่อารมณ์ที่ปรากฏ ขณะที่ได้ยินก็มีเอกัคคตาเจตสิกตั้งมั่นที่อารมณ์ที่เป็นเสียงที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นเอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ ไม่เว้นเลย เป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก คำแปลก็จากข้างหลังมาข้างหน้า สาธารณะ ทั่วไป สัพพจิตตะ เกิดกับจิตทุกขณะ ทุกดวง เพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วงเรื่องสมาธิ มีอยู่ แต่เวลาที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกหรือสมาธิจะไม่ปรากฏ เพราะว่าจิตที่เกิดก็สั้น สิ่งที่ปรากฏก็สั้น วาระหนึ่งๆ ก็สั้น เพราะฉะนั้นลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกจะไม่ปรากฏเป็นความตั้งมั่นถึงระดับขั้นที่เราใช้คำว่า สมาธิ แต่ถ้ามีจิตจดจ่ออยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดนาน ลักษณะของสมาธิก็ปรากฏ เช่น กำลังตั้งใจจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด เดินให้ดี ไม่ให้ล้ม ข้ามสะพานไม่ให้ตก ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของเอกัคคตาเจตสิก ขณะนั้นไม่ใช่กุศล ขณะใดที่เอกัคคตาเจตสิกไม่ได้เกิดกับกุศลจิต ขณะนั้นจะเป็นสัมมาไม่ได้ ก็ต้องเป็นอกุศลสมาธิ หรือมิจฉาสมาธิ แต่ขณะใดก็ตามที่เกิดกับกุศล ขณะนั้นก็เป็นกุศลสมาธิ หรือสัมมาสมาธิ

    เพราะฉะนั้นจึงมีลักษณะของสมาธิที่เกิดกับกุศลจิต แต่สั้น เช่นเดียวกับเวลาที่เกิดกับอกุศลจิตก็สั้น เวลาเห็นก็สั้น เวลาได้ยินก็สั้น ต่อเมื่อใดที่กุศลจิตเกิดบ่อยๆ เพราะรู้ว่า วันหนึ่งๆ ทานก็เกิดน้อย การวิรัติทุจริตก็เกิดน้อย

    เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่จิตใจจะตกไปเป็นอกุศล เวลาที่คิดนึกเรื่องอะไร อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ทราบไหมคะ กุศลจิตหรืออกุศลจิต เวลาใครพูดเรื่องความไม่ดีของคนอื่น ของคนอื่น จิตที่กำลังคิดนึกตามเป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต เป็นอกุศลจิต

    เพราะฉะนั้นตา หู จมูก ลิ้น กาย เมื่อประสบกับสิ่งใดจะคล้อยไปเป็นอกุศลส่วนใหญ่ ยากนักยากหนาที่เมื่อเห็นแล้วเป็นกุศล ได้ยินแล้วเป็นกุศล ได้กลิ่นแล้วเป็นกุศล แล้วแต่ว่าสะสมกุศลระดับใด ถ้าเป็นผู้ที่มากด้วยเมตตา เมื่อคิดว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลแล้ว ก็ยังมีจิตใจซึ่งเป็นมิตร เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่โดยอุปนิสัย แต่ขณะนั้นก็ยังสั้นมาก เพราะฉะนั้นเดี๋ยวก็มีเสียงปรากฏ เดี๋ยวก็มีสีปรากฏ เพราะฉะนั้นลักษณะของสมาธิก็ไม่มั่นคง แม้ว่าเป็นกุศล

    ด้วยเหตุนี้ผู้ที่มีปัญญาในครั้งโน้น ไม่ใช่ในครั้งนี้ ครั้งนี้เพียงได้ยินสมาธิ ก็อยากทำ แต่ผู้มีปัญญาในครั้งนั้นเห็นโทษของอกุศล โดยเฉพาะโลภะว่า เราจะคล้อยไปตามสิ่งที่ปรากฏด้วยความติดข้อง โดยที่เราไม่รู้สึกตัวเลยว่า เราติดข้องในการเห็น ในสิ่งที่ปรากฏ ในการได้ยิน ในเสียงที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นท่านเหล่านั้นพยายามที่จะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะรู้ว่า เมื่อเห็นแล้วจิตจะเป็นอกุศล แล้วท่านก็มีปัญญาที่สามารถจะรู้ว่า สำคัญที่วิตก การตรึก ว่านึกถึงอะไรแล้วจิตจะเป็นกุศล ถ้านึกถึงเรื่องราวที่เป็นอกุศล อกุศลจิตก็เกิดอยู่นั่นแล้ว ใช่ไหมคะ แต่ถ้านึกถึงทาน นึกถึงศีล หรือนึกถึงสิ่งที่ทำให้จิตสงบจากอกุศลบ่อยๆ ลักษณะของกุศลจิตก็จะเกิดบ่อย ความสงบก็จะปรากฏ ลักษณะของสมาธิก็จะตั้งมั่นในอารมณ์นั้น เพราะฉะนั้นในขณะนั้นก็เป็นสัมมาสมาธิ จนกระทั่งถึงระดับที่เป็นอุปจารสมาธิ ถึงอัปปนาสมาธิ จึงเป็นฌานจิต ตั้งแต่ปฐมฌาน แล้วยังรู้ว่า ขณะนั้นถ้ายังมีวิตก การตรึกอยู่ ก็ใกล้ต่อการตรึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    เพราะฉะนั้นท่านจึงละสภาพธรรมที่ตรึก โดยประคองจิตให้อยู่ในอารมณ์นั้น โดยไม่ให้มีวิตกหรือการตรึก ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก และเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า อย่าไปพอใจกับคำว่า “สมาธิ” โดยที่ไม่มีการศึกษาให้เข้าใจเสียก่อนว่า สัมมาสมาธิกับมิจฉาสมาธินั้นต่างกัน


    หมายเลข 8335
    23 ส.ค. 2567