ประจักษ์ที่ลักษณะ ไม่ใช่คิดเอา ๒


    พระคุณเจ้า นี่กำลังจะสาวไปถึงว่า ปัญญาที่รู้ รู้อย่างไร รู้อะไร

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการศึกษาพระไตรปิฎก ต้องทราบว่า ศึกษาพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นผู้ที่ศึกษาสามารถรู้จักตัวเองว่า ปัญญาของเราระดับไหน ระดับที่จะไปรู้อย่างพระพุทธเจ้าทั้งหมดที่ทรงแสดง หรือระดับที่เราสามารถจะเริ่มฟัง เริ่มพิจารณา เริ่มสะสมความเข้าใจที่ถูกต้องว่า สภาพธรรมไม่ใช่นึกเอา มีสภาพจริงๆ เป็นธรรมจริงๆ มีลักษณะจริงๆ แต่ละอย่าง ที่ทรงแสดงไว้ ไม่ว่าจะเป็นโดยลักขณาทิจตุกะ โดยลักษณะ โดยกิจการงาน โดยอาการปรากฏ หรือโดยเหตุใกล้ให้เกิด ก็คือด้วยพระมหากรุณาที่ทรงแสดงประการทั้งปวง ที่จะให้เห็นว่า สภาพธรรมนั้นมีจริงๆ และมีลักษณะอย่างนั้น เพื่อที่เราจะสามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่ขั้นคิด และไม่ใช่ขั้นเข้าใจว่ามีปัญญาแล้ว แต่ว่าแท้ที่จริงขณะนี้ จิตก็เกิดดับ เช่นจิตเห็นก็เกิดดับไปมากมาย จิตคิดก็เกิดดับไปมากมาย แล้วเราก็มานั่งคิดถึงจิตคิด มานั่งคิดถึงจิตเห็น โดยที่สติปัฏฐานไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพเห็นซึ่งเกิดแล้วก็ดับจริงๆ

    พระคุณเจ้า สภาพเห็นเป็นรูป เป็นนาม หรือจักขุวิญญาณที่ปัญญาจะไปรู้

    ท่านอาจารย์ เห็น มีรูปร่างไหมเจ้าคะ

    พระคุณเจ้า เห็นไม่มีรูปร่าง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเห็นไม่ใช่รูปธรรม

    พระคุณเจ้า ความใส่ใจโดยปัญญานั้น ใส่ใจที่ไหน

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ รู้ว่า ธาตุรู้มี เพราะว่าธรรมดาเวลาที่เราพูดถึงสิ่งที่มีจริงในโลก เรากำลังพูดถึงสิ่งที่ปรากฏ เราไม่ต้องหนีจากตรงนี้ไปหาที่ไหนเลยทั้งสิ้น แต่ว่าสภาพธรรมที่มีจริงขณะนี้ มีจริงๆ ไม่ได้ไปหลอกลวง ไม่ต้องไปอ้างที่โน่นที่นี่ แต่ว่าสภาพธรรมขณะนี้ที่มีจริงเป็นธรรม ใหม่ๆ จะมีประจักษ์การดับ และการเกิด เพราะเหตุว่าไม่มีปัญญาที่จะรู้ลักษณะนั้นๆ ว่า เป็นเพียงสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเป็นธาตุแต่ละชนิด แต่เข้าใจว่าเป็นเรา ทั้งๆ ที่แข็งตรงนี้ทั้งหมดก็ยังเข้าใจว่า เป็นแขนเรา เป็นเท้าเรา เป็นมือเรา เป็นศีรษะเรา ทั้งๆ ที่เป็นแข็ง ก็เข้าใจว่าเป็นเรา แต่ถ้ารู้จักความเป็นธาตุ ขณะนั้นไม่ใช่เราเลยค่ะ ไม่มีเจ้าของ ไม่ใช่ของใคร

    เพราะฉะนั้นพระธรรมที่ทรงแสดงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ทรงแสดงโดยประการทั้งปวง ให้เห็นความเป็นอนัตตาจริงๆ จะใช้คำว่า “ธรรม” หรือจะใช้คำว่า “ธาตุ” ก็เหมือนกัน เพราะเหตุว่าเราไม่ได้ยึดถือธาตุหนึ่งธาตุใดว่าเป็นเรา

    เพราะฉะนั้นเวลาที่ศึกษาจริงๆ ก็ต้องค่อยๆ เทียบเคียง โลภะมีลักษณะติดข้อง เกิดเมื่อไรก็ติดข้องเมื่อนั้น ไม่ว่าจะเห็นก็ติดข้อง ไม่ว่าจะได้ยินก็ติดข้อง ไม่ว่าจะได้กลิ่นก็ติดข้อง ไม่ว่าจะลิ้มรส ไม่ว่าจะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ว่าจะคิดนึกก็ติดข้อง นั่นคือโลภะ สัตว์ มนุษย์ เทวดา ถ้าโลภะเกิด เอารูปร่างออกหมดเลย ลักษณะของโลภะก็เป็นอย่างนั้น ซึ่งก็ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้ เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ทั้งหมดเป็นธาตุแต่ละชนิด

    นี่คือการฟังธรรม ใช้คำว่า “ธรรม” ก็คือธาตุ เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ก็คือฟังเรื่องธาตุต่างๆ ซึ่งทรงแสดงไว้ว่า ธาตุกับธรรมมีความหมายอย่างเดียวกัน

    เพราะฉะนั้นขณะนี้ที่เคยเป็นเรา เราก็มาศึกษาเรื่องธาตุหรือธรรมที่ทรงแสดงไว้ว่า ธาตุทั้งหมดต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ อย่างหนึ่งเป็นธาตุที่ไม่สามารถรู้อะไรได้เลย ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า “รูปธาตุ” ถ้ามีแต่เพียงรูปธาตุ ไม่มีการเดือดร้อน ไม่มีทุกข์ ใช่ไหมคะ ภูเขาไฟจะระเบิด น้ำจะท่วม ก็ไม่มีใครไปรู้ไปเห็น ไม่มีธาตุรู้เลย สิ่งต่างๆ เหล่านั้นก็เกิดขึ้นเป็นไปตามอุตุซึ่งเป็นปัจจัย แต่ว่าไม่ใช่ในโลกนี้ หรือสากลโลก จะมีแต่เฉพาะรูปธาตุ มีธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งต่างจากรูปธาตุ คือ ธาตุที่เป็นนามธรรม เป็นธาตุอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งทันทีที่เกิดสามารถจะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ต้องรู้ เป็นธาตุรู้ เช่นขณะนี้กำลังเห็น ไม่ใช่ไม่มีจิตเห็น เราไม่ใช่คนตาย คนที่ตายแล้ว สิ้นชีวิตแล้ว ไม่มีจิต จึงไม่เห็น แต่ขณะนี้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะเหตุว่ามีธาตุซึ่งเป็นจิต เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้สิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นก็รู้ขณะนี้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ลักษณะอย่างนี้ เห็นอย่างนี้ นี่คือลักษณะของธาตุเห็น ถ้าเป็นเสียงที่ปรากฏ ก็มีธาตุที่ได้ยินเสียง จะกล่าวว่าไม่มีได้ยินไม่ได้ จะกล่าวว่า มีแต่เสียงไม่ได้ แต่ขณะใดที่เสียงปรากฏ หมายความว่าขณะนั้นต้องมีธาตุได้ยินเสียง เสียงจึงปรากฏได้

    เพราะฉะนั้นทรงแสดงความเป็นอนัตตาให้เห็นว่า สภาพธรรมที่มีจริงๆ ก็เป็นแต่เพียงนามธรรม และรูปธรรมเท่านั้น ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ถ้าเรามีความเข้าใจมั่นคงจริงๆ เราก็จะรู้ได้ว่า ถ้าเราเพียงคิด ละกิเลสใดๆ ไม่ได้เลยทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าจะคิดเรื่องสภาพธรรม แต่ตัวสภาพธรรมจริงๆ เกิดดับ โดยไม่รู้เลยว่า เป็นธรรมที่มีลักษณะอย่างไร แต่ถ้ามีการอบรมเจริญปัญญาถึงระดับระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ และอบรมเจริญต่อไป ก็สามารถประจักษ์ลักษณะเกิดดับ ซึ่งเป็นอนิจจลักษณะ ซึ่งเป็นทุกขอริยสัจได้ ก็เป็นเรื่องซึ่งเป็นความจริงที่มี แต่ปัญญาจะต้องรู้จริงขึ้นๆ ๆ ๆ ๆ ๆ จนกว่าจะประจักษ์อริยสัจจะได้ เพราะเป็นสัจธรรม


    หมายเลข 8346
    23 ส.ค. 2567