จำโดยไม่เข้าใจก็มี
เพราะฉะนั้นการฟังต้องละเอียด และต้องสอดคล้องกัน แม้แต่คำว่า “ปฏิบัติ” ในภาษาไทยแปลว่า “ทำ” ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นคนที่ไม่ศึกษาก็อยากจะทำเพราะปฏิบัติ ได้ยินคำว่า ปฏิบัติก็จะทำ แต่ “ปฏิปัตติ” ปฏิ หมายความว่า ถึง ปัตติ หมายความถึง เฉพาะ เพราะฉะนั้นถึงเฉพาะโดยสติ เป็นสภาพธรรมที่ระลึกตรงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรม ทีละลักษณะที่ปรากฏ เช่น ทางตา ไม่เคยรู้ว่า มีจิต สภาพรู้หรือธาตุรู้ที่กำลังเห็น ไม่เคยค่ะ ฟังอย่างนี้ก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นมาทีละน้อย แต่ก็ยังไม่สามารถละความเป็นเราที่เห็น แล้วก็รู้ว่า ธาตุรู้ สภาพรู้เกิดขึ้นเห็น และธาตุรู้ สภาพรู้อีกชนิดหนึ่งก็เกิดขึ้นได้ยิน คนละขณะ คนละชนิด เพราะว่าธาตุชนิดหนึ่งต้องอาศัยจักขุปสาทกับสิ่งที่ปรากฏทางตากระทบกัน ธาตุอีกชนิดหนึ่งต้องอาศัยโสตปสาทกับเสียง ธาตุได้ยินจึงเกิด
เพราะฉะนั้นมีธาตุทั้งหมดเลย เป็นธาตุทั้งหมด เป็นธรรมทั้งหมด ไม่ใช่เรา ฟังแล้วพิจารณา แล้วค่อยๆ เข้าใจแล้วรู้ว่า นี่เป็นปัญญาขั้นฟัง แต่ว่าจะต้องถึงการประจักษ์แจ้งได้ จึงจะถึงความเป็นพระอริยบุคคล มิฉะนั้นแล้วไม่มีทางเลย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมมี แต่คิดเอาๆ ๆ โดยสติไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรม แล้วจะกล่าวว่า ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมไม่เที่ยง ไม่ได้ เพียงแต่สามารถฟังแล้วเข้าใจในความไม่เที่ยงของสภาพธรรม แต่ไม่ใช่การประจักษ์ลักษณะที่ไม่เที่ยง
เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนามี ๓ ขั้น ปริยัติศาสนา ปฏิปัตติศาสนา ปฏิเวธศาสนา ทั้ง ๓ ขั้นนี่ไม่ใช่ขั้นเดียวกัน ปริยัติศาสนา คือ ขณะที่กำลังฟังเรื่องราวของสภาพธรรม แล้วก็เข้าใจ ขณะที่กำลังฟัง ใครฟัง เราฟัง ใช่ไหมคะ แต่ถ้าฟังจนกระทั่งเข้าใจว่า ไม่ใช่เราที่ฟัง เป็นธาตุซึ่งเป็นจิต และเจตสิก ก็เริ่มจะสนใจว่า ลักษณะของจิตต่างกับเจตสิกอย่างไร คือ ธรรมจริงๆ ก็สามารถจะเข้าใจโดยพระธรรมที่ทรงแสดงความต่าง เช่น แม้จิต เจตสิกไม่ใช่รูปธรรม เป็นนามธรรม แต่จิตต่างกับเจตสิก เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการเห็นแจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ
ขณะนี้อะไรปรากฏ ให้ทราบว่าเพราะจิตกำลังรู้สิ่งนั้น นี่คือลักษณะของจิต ซึ่งเป็นสภาพที่เห็นแจ้ง เห็นเท่านั้น ถ้าเป็นขณะที่ได้ยิน เสียงปรากฏ จิตก็เป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะของเสียง เพราะเสียงต่างกัน เสียงเมื่อกี้นี้ เสียงไอ ใช่ไหมคะ ก็ต่างกับเสียงปกติ เสียงฟ้าร้อง เสียงพัดลม เสียงอะไรก็แล้วแต่ แต่ละเสียงที่ตลอดชีวิตเราทราบว่า เป็นสียงอะไรบ้าง เพราะขณะนั้นจิตเป็นนามธาตุที่เกิด แล้วรู้สิ่งนั้น แล้วก็ดับ
เพราะฉะนั้นตลอดชีวิตของเราก็คือจิตเกิดดับ เกิดดับ รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทีละอย่าง สลับกับจิตที่ไม่รู้อะไรเลยซึ่งเป็นภวังคจิต
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ไม่มี เสียงไม่ได้ปรากฏ แล้วมี คือ เสียงปรากฏ แล้วเสียงดับ ก็หามีไม่
นี่คือชีวิตตามความเป็นจริง ที่จะศึกษาจนกระทั่งเข้าใจขั้นปริยัติว่า เป็นธรรม นี่คือขั้นปริยัติ แต่เมื่อฟังแล้วมีความเข้าใจที่มั่นคง มีสัญญา ความจำด้วยความเข้าใจ เพราะแม้แต่ความจำ จำโดยไม่เข้าใจก็มี เช่นจำว่าเป็นโต๊ะ จำว่าเป็นเก้าอี้ ไม่ใช่จำด้วยความเข้าใจเลย แต่ขณะใดที่จำเกิดพร้อมกับปัญญา ก็เป็นสัญญา ความจำในความรู้ที่ถูกต้องมั่นคงว่า ขณะนี้เป็นสภาพธรรม ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ก็จะมีการระลึก ซึ่งไม่ใช่เรา แต่ขณะนั้นจะเกิดการระลึกได้ว่า สภาพที่เห็นเป็นขณะนี้เอง ซึ่งไม่มีรูปร่าง แต่เป็นธาตุที่สามารถเห็น และขณะที่ได้ยินก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นนามธาตุ ซึ่งไม่มีรูปร่าง แต่สามารถได้ยิน
เพราะฉะนั้นความเป็นเราจากขั้นปริยัติก็ค่อยๆ จาง แต่ไม่สามารถดับกิเลสได้เพียงขั้นคิด จะต้องเพราะสติปัฏฐานมีหน้าที่ระลึก พร้อมกับมรรคมีองค์อื่น ซึ่งเป็นสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสมาธิเกิด แล้วอบรมไป ค่อยๆ ระลึกไป ค่อยๆ เข้าใจไป ทรงอุปมาไว้ว่า เหมือนน้ำทีละหยดเต็มตุ่ม เต็มโอ่ง เต็มภาชนะได้ฉันใด การที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งตอนแรกก็จะไม่มีความเข้าใจที่ชัดเจน เพียงรู้ว่า ขณะนั้นสติเกิดจึงระลึก ระลึก คือ มีสภาพธรรมปรากฏ แล้วสติใส่ใจในลักษณะนั้น เพราะความจริงตั้งแต่เช้าจนกระทั่งมาถึงเดี๋ยวนี้ แข็งปรากฏไหมคะ หรือไม่มีเลย มี แต่ไม่เคยระลึกตรงแข็ง เพราะว่าแข็งก็เป็นแก้วน้ำ ก็เป็นโต๊ะ เป็นช้อน เป็นส้อม เป็นทุกอย่าง คิดนึกตามลักษณะที่แข็ง แต่สติปัฏฐาน เพราะฟังรู้ว่า ขณะที่คิด คิดเรื่องของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีสิ่งที่ปรากฏทางตาก่อนแล้วคิด คิดเรื่องเสียงที่ได้ยิน เป็นคำ เป็นความหมายต่างๆ เพราะฉะนั้นต้องมีเสียงปรากฏก่อน แล้วมีการคิดเรื่องคำ หรือความหมายของเสียง
เพราะฉะนั้นก็จะเข้าใจว่า ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย คิดไม่ได้ แต่เมื่อมีสภาพที่คิด ก็คิดเรื่องอะไร ก็คิดเรื่องที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะฉะนั้นก็แยกโลกของปรมัตถสัจจะกับสมมติสัจจะได้ว่า ปรมัตถสัจจะ ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ คือ ขณะเห็นต้องเห็นเฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ยังไม่มีความคิดใดๆ เจือปน ทางหูก็ต้องได้ยินเฉพาะสียง ยังไม่มีการคิดความหมายเรื่องเสียงเลย ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยนัยเดียวกัน แต่โลกของความคิดทั้งหมด คิดจากสิ่งที่เห็น จากเสียงที่ได้ยิน จากกลิ่น จากรส จากสัมผัส เป็นเรื่องเป็นราวทั้งหมดทางใจ ไม่ใช่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย