ไม่หลอก ไม่สร้าง ไม่บังคับ


    พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ๒ อย่าง คือ ปรมัตถสัจจะ และสมมติสัจจะ ปรมัตถสัจจะก็เป็นการรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่มีความคิดนึกเจือปน แต่สมมติสัจจะเมื่อคิดขณะใด ก็มีเรา มีเขา มีพระเจ้าแผ่นดิน มีเด็ก มีดอกกุหลาบ มีบ้าน มีอะไรต่างๆ นี่ก็เป็นโลกของความคิด แต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะมีชั่วขณะที่คิด ถ้าไม่คิด ก็ไม่มี แต่ความจริงในขณะที่คิด ปรมัตถธรรมก็ไม่มีอยู่ในเรื่องราวนั้นเลย คิดถึงคน ก็ไม่ได้มีสีสันวัณณะของคน เพียงแต่ทรงจำไว้ว่า มีคนที่เรากำลังคิด เหมือนอย่างที่เคยเปรียบเทียบว่า ขณะนี้ถ้าเราจะเห็นแก้วน้ำนี้ กับการที่เราหลับตาแล้วคิดถึงแก้วน้ำ จะไม่เหมือนกันเลย นึกอย่างไร นึกให้เป็นเหมือนสิ่งที่ปรากฏทางตา นึกไม่ได้ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่การคิด คิดอย่างไรก็ไม่เหมือนสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่จำได้ถึงสัณฐานของแก้วน้ำ

    เพราะฉะนั้นเวลาที่เราเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ทางใจจะคิดถึงสิ่งนั้นต่อ เก็บเป็นเรื่องเป็นราว เป็นสมมติบัญญัติ แม้ในฝัน เวลาฝัน ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้เลย เพราะเหตุว่าฝันถึงอะไรก็มีแต่เพียงเรื่อง เรื่องเท่านั้น เวลานี้ใครจะคิดอะไร ก็เป็นเพียงเรื่อง

    เพราะฉะนั้นก็เห็นความต่างกันของปรมัตถสัจจะกับสมมติสัจจะ และการอบรมเจริญปัญญาก็จะต้องรู้ว่า ถ้าเป็นการคิด ไม่มีสภาพปรมัตถธรรมปรากฏในเรื่อง แต่ตัวจิตที่คิด ไม่ใช่เราคิด เพราะฉะนั้นเวลาที่คิดก็จะไม่หวั่นไหว แล้วก็จะไม่เดือดร้อน ถ้าสามารถจะรู้ว่า คิดไม่ดี ก็เป็นสภาพธรรม ไม่ใช่เรา คิดดี ก็เป็นสภาพธรรม ไม่ใช่เรา และปัญญาก็จะเห็นตามความเป็นจริง รู้จักตัวเองตรง ไม่หลอก ไม่สร้าง ไม่ไปพยายามบังคับ หรือทำสิ่งที่ไม่ใช่ชีวิตจริงๆ เพราะเหตุว่าปัญญาจริงๆ ต้องรู้ว่า ทำสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดให้เกิดไม่ได้เลย แต่สามารถอบรมเจริญปัญญารู้ความจริงของสภาพธรรมซึ่งมีปัจจัยเกิด ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่สามารถมีเราไปแทรกเป็นเราที่จะไปบังคับ ไปฝืนกระแสจิต หรือวาระของวิถีจิตได้เลย เช่น ขณะที่เกิด ขณะแรกเลือกเกิดไม่ได้ แต่จิตที่เกิดต้องเป็นประเภทผลของกรรม ที่ภาษาธรรมใช้คำว่า “วิบากจิต” ถ้าได้ยินคำว่า “วิบาก” ไม่ใช่ลำบาก วิบาก ภาษาบาลีต้องเป็น “วิปาก” เพราะภาษาบาลีไม่ใช่ตัว บ ใบไม้ แต่ใช้ตัว ป และต้องออกเสียงทุกคำ วิ ปา กะ เป็นผลของกรรม

    เพราะฉะนั้นเวลาที่กระทำกรรมใดๆ ไปแล้ว เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า กรรมนี้จะให้ผลเมื่อไร เพราะฉะนั้นจึงมีข้อความในพระไตรปิฎกว่า “กรรมเป็นสภาพที่ปกปิด” ขณะที่กระทำกรรม ก็ไม่รู้ว่า กรรมนี้ให้ผลเมื่อไร ให้ผลในลักษณะใด และเวลาที่ผลของกรรมเกิด ก็ไม่สามารถจะรู้ได้ว่า ผลของกรรมคือวิบากจิตขณะนี้ ชนิดนี้ เป็นผลของกรรมอะไร ผู้ที่รู้ คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาที่มีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้นกับใครในครั้งนั้น ก็ไปเฝ้ากราบทูลถาม ทรงแสดงถึงอตีตกรรม หรืออดีตกรรมว่า ผลของกรรมนี้มาจากการกระทำอะไรในอดีต แต่คนอื่นไม่สามารถจะแสดงได้เลย เพราะว่าต้องเป็นปัญญาจริงๆ ไม่ใช่ปัญญาระดับขั้นที่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรม ปัญญาที่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรม บุคคลนั้นเป็นพระอริยบุคคล แต่ไม่ประกอบด้วยญาณอย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สามารถจะรู้กรรมของแต่ละบุคคล และผลของกรรมของแต่ละบุคคลได้

    เพราะฉะนั้นเปรียบกันไม่ได้เลย ความรู้ที่ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก กับเราที่เพิ่งเริ่มจะศึกษา เริ่มที่จะค่อยๆ เข้าใจ เท่าที่กำลังปัญญาของเราจะมี แล้วค่อยๆ สะสมให้เพิ่มขึ้น จนกว่าจะเป็นการรู้การเข้าใจพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ว่า ขณะนั้นเป็นระดับใด เป็นขั้นปริยัติ หรือเป็นขั้นปฏิบัติ หรือเป็นขั้นปฏิเวธ

    นี่ก็เป็นสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ค่อยๆ ฟังไป ค่อยๆ เข้าใจไป ค่อยๆ รู้ระดับขั้นที่ต่างกันของปัญญา อย่าไปหลงคิดว่า รู้แล้วเพียงขั้นฟัง


    หมายเลข 8350
    23 ส.ค. 2567