รู้ว่าเป็นกุศล แต่ยังเป็นเรา


    พล.ต.ศิลกัล เมื่อจิตเป็นกุศล ก็ให้รู้ว่าเป็นกุศล เมื่อจิตเป็นอกุศล ก็ให้รู้ว่าเป็นอกุศล จะกล่าวอย่างไรครับถึงจะถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ต้องกล่าวอย่างไรนะคะ แต่หมายความว่าธรรมที่มีอยู่เดี๋ยวนี้ เราค่อยๆ เข้าใจขึ้น เราอย่าไปหยิบตรงโน้นตรงนี้มาแล้วก็คิดว่า จะต้องเข้าใจ หรือจะต้องพูดอะไรตรงนี้ แต่เป็นความเข้าใจว่า ที่เราได้ฟังพระธรรม เราเข้าใจอะไร เพราะว่าพระธรรมมีตลอดเวลา แล้วเราเข้าใจอะไรที่เป็นธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ต้องคิดถึงเรื่องที่จะต้องพูดตาม

    พล.ต.ศิลกัล ทีนี้เข้าใจประโยคที่ว่า จิตเป็นกุศลก็รู้ว่า จิตเป็นกุศล จิตเป็นอกุศล ก็รู้ว่าจิตเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ เวลาโกรธ รู้ไหมคะ

    พล.ต.ศิลกัล ทราบครับ

    ท่านอาจารย์ เป็นกุศลหรืออกุศล

    พล.ต.ศิลกัล เป็นอกุศลครับ

    ท่านอาจารย์ เวลาโกรธเป็นอกุศล ใครๆ ก็รู้

    พล.ต.ศิลกัล นี่หมายความว่า สภาพธรรมเกิดขึ้นมาเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ อกุศลเป็นอกุศล ใครๆ ก็ทราบ

    พล.ต.ศิลกัล บางทีมันหลงลืมไปว่า เป็นเราโกรธทุกที

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเราลืม ถ้าไม่เข้าใจธรรมจริงๆ ก็ต้องเป็นเรา ไม่ต้องไปสนใจ ให้เข้าใจจริงๆ ว่า ธรรมคืออะไร ขณะนี้เป็นธรรม แล้วเราจะฟังให้เข้าใจว่าเป็นธรรม เพิ่มขึ้นๆ

    พล.ต.ศิลกัล ที่กล่าวอย่างนี้หมายความว่า เป็นการเจริญสติ และเจริญความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ไม่ค่ะ เราศึกษาเพื่อเข้าใจ ไม่ต้องไปคิดว่า ต้องเจริญ หรือต้องอะไรเลย สิ่งที่เราไม่เคยฟัง ไม่เคยรู้ ก็ฟัง ก็รู้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ใครจะใช้คำว่า “ศึกษา” ไม่ใช้คำว่า ศึกษา ก็คือค่อยๆ เข้าใจขึ้น ไม่ไปติดอยู่ที่คำ อยู่ในที่นี่ จะกี่คนก็ตาม ได้ยินข้อความเดียวกัน แต่อยู่ที่การพิจารณา การฟัง ไม่ใช่ฟังแล้วผ่าน แต่ฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่ฟัง จะมากจะน้อย แล้วแต่การสะสมซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ขณะนี้ก็เป็นธรรมดา ธรรมคือธรรมดา แต่ธรรมดาของธรรมก็คือว่า เมื่อเป็นธรรมก็ไม่ใช่เรา จะเป็นเราได้อย่างไร พูดอยู่เมื่อกี้นี้เองว่า เป็นธรรม ก็ต้องเป็นธรรม

    นี่คือความตรงของธรรมว่า ธรรมเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น แต่เพราะไม่รู้ว่าเป็นธรรม ก็เลยเป็นเราไปทั้งหมด เพราะฉะนั้นถึงต้องฟัง ฟังแล้วฟังอีก แล้วก็จะรู้ว่า ปัญญามีหลายระดับ ข้อสำคัญคือไม่ต้องไปห่วงเรื่องมรรค เรื่องผล เรื่องสติปัฏฐาน เรื่องอายตนะ เรื่องอริยสัจ ซึ่งเป็นข้อความในพระไตรปิฎกทั้งหมด และอรรถกถา แต่เริ่มเข้าใจว่า ธรรมหมายความถึงสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แต่ไม่เคยฟัง ไม่เคยเข้าใจ ก็ฟังจนกว่าจะเข้าใจขึ้น ไม่ใช่พอเข้าใจนิดหนึ่ง ก็อยากเจริญอย่างนั้น จะทำอย่างนี้ กุศลมีกี่อย่าง อะไรอย่างนั้น

    ทรงแสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ขณะใดที่เป็นธรรม ก็คือเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง ตามประเภทของจิตในขณะนั้นๆ ให้รู้ความจริง ไม่ใช่มีตัวเราไปติดข้อง ไปต้องการอะไรอีก แต่ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่าง กุศลก็คือสภาพที่ดี ก็ทรงแสดงไว้ว่า สภาพที่ดีก็ไม่ใช่เราอีก ไม่ใช่ว่าเมื่อเป็นสภาพที่ดี ก็อยากให้ดีมากๆ ทำกันเยอะๆ ถูกไหมคะอย่างนั้น หรือว่ารู้ตามความเป็นจริงว่า กุศลไม่ใช่เรา อันไหนจะถูกต้องกว่ากัน รู้ว่าเป็นกุศล แล้วอยากจะทำกุศลมากๆ อยากจะได้ผลของกุศล หรือเมื่อรู้ว่าเป็นกุศลแล้ว ก็รู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา


    หมายเลข 8352
    23 ส.ค. 2567