รู้เรื่องจิต แต่ตัวจิตจริงๆยังไม่รู้
ผู้ฟัง ที่เรามีความคิดเห็นว่า จิตเป็นกุศล เป็นอกุศล สำคัญว่า จิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลครับ
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นก็คือเราจำเรื่อง เราจำเรื่องจิตเป็นกุศล เราจำเรื่องจิตเป็นอกุศล เรายังไม่ได้รู้จักตัวจิตเลย เพราะฉะนั้นทุกอย่าง ความรู้ทั้งหมดต้องตั้งต้นที่พื้นฐาน เราฟังมาว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แต่ทุกอย่างยังไม่เป็นธรรมสำหรับเรา แต่เรารู้ว่า ในที่สุดต้องรู้ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม เราฟังเรื่องจิต เรารู้ว่าจิตเป็นสภาพรู้ แต่ลักษณะของสภาพรู้หรือธาตุรู้ก็ยังไม่ปรากฏกับปัญญา เพราะว่าปัญญายังไม่เกิดพอที่จะรู้ลักษณะของจิต และเจตสิก
เพราะฉะนั้นเมื่อเรายังไม่รู้ลักษณะของจิต แล้วเราบอกว่าจิตเป็นกุศล จิตเป็นอกุศล ก็คือขณะนั้นเป็นความคิดนึกเรื่องกุศลจิต และอกุศลจิต จนกว่าเราจะรู้ลักษณะของจิต มีปัญญาที่สามารถประจักษ์ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ความที่เป็นความรู้ระดับคิดเท่านั้นก็จะเพิ่มขึ้น เพราะว่าถ้าลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมไม่ปรากฏ อย่างไรๆ ก็เป็นความรู้ขั้นคิดตลอด เรื่องกุศลจิต เรื่องอกุศลจิต ทั้งๆ ที่ขณะนี้เป็นกุศลจิตที่กำลังฟัง มีศรัทธา มีสติ และกำลังเข้าใจก็เป็นปัญญา แต่ไม่สามารถจะรู้ได้ เราก็พูดเรื่องจิตที่เป็นกุศล แต่ตัวที่เป็นกุศลจิตจริงๆ ยังไม่ปรากฏ ยังไม่รู้
เพราะฉะนั้นก่อนอื่น ต้องรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมที่แยกขาดจากกัน ถ้ามิฉะนั้นก็เป็นเรื่องราวทั้งหมด แต่ว่าเวลาที่สภาพนั้นๆ เกิดขึ้น ความรู้ของเราเป็นความคิดนึกเพิ่มจากการไม่เคยฟัง คือ ก่อนฟัง เราก็มีอ่อนหรือแข็ง ใช่ไหมคะ ทุกอย่าง เห็น ได้ยิน เราก็มี โดยที่ไม่เคยฟังมาก่อน แต่หลังจากที่เคยฟังแล้ว ใจของเราก็มาคิดเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนั้น แต่ก็ยังคงเป็นความคิด เพราะว่าถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ต้องสามารถศึกษาลักษณะที่มีเป็นปกติว่า ลักษณะนั้นๆ เป็นลักษณะของรูปธรรม หรือเป็นลักษณะของนามธรรม เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้ว เราทราบว่า ไม่มีอะไรเลย นอกจากนามธรรมกับรูปธรรม อย่างไรๆ เราก็ตอบได้ แต่จริงๆ เวลานี้เรามีความเข้าใจอย่างนั้นหรือเปล่าว่า ไม่มีเรา มีแต่นามธรรม และรูปธรรม โดยไม่ใช่ขั้นคิด แต่เป็นขั้นที่สติไม่ว่าจะระลึกขณะใดก็คือลักษณะของนามธรรม มีความเข้าใจในลักษณะนั้น เวลาที่สติระลึกเมื่อไร ก็มีความเข้าใจในลักษณะของรูปธรรม
เพราะฉะนั้นเราจึงเข้าใจความหมายของสติปัฏฐานหรือสัมปชัญญะว่า แค่ไหน ระดับไหน ที่จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมโดยถูกต้อง เพราะมิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นความคิดซึ่งคิด และก็มีลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่เปลี่ยน เหมือนเดี๋ยวนี้ เหมือนเดิม แต่สิ่งที่เรากำลังคิดถึงลักษณะนั้น ไม่ใช่สติปัฏฐานหรือเป็นสติปัฏฐาน อันนี้เป็นขั้นต้นที่ต้องทราบ ไม่อย่างนั้นสติปัฏฐานก็เจริญไม่ได้
เพราะฉะนั้นปัญญาจริงๆ สามารถรู้ทั่ว ข้อสำคัญที่สุด คือ ที่จะละความเป็นเรา ปัญญาต้องรู้ทั่ว อย่างในขณะนี้ทั้งหมด ถ้าเป็นผู้ที่อบรมสติปัฏฐานมาก ถึงระดับสมบูรณ์เป็นวิปัสสนาญาณ เมื่อสติปัฏฐานเกิด เขาจะรู้เลยว่า เขาสามารถเข้าใจลักษณะของนามธรรมหรือลักษณะของรูปธรรม ไม่ว่าขณะนั้นจะเป็นคิด หรือจะเป็นโกรธ หรือจะเป็นมานะ หรือจะเป็นริษยา หรือจะเป็นเมตตา หรือจะเป็นอะไรก็ตามแต่ ทุกอย่างที่ละเอียดทั้งหมดจะปรากฏกับสติที่ระลึก เพราะเหตุว่าสติเขาจะไม่มีการให้เรารู้ล่วงหน้าเลยว่า เขาจะระลึกอะไร หรือคนที่เคยเจริญสติมีปัญญามากแล้ว สติจะเกิดหรือไม่เกิด เขาก็รู้ตามความเป็นจริงว่า ไม่สามารถบังคับบัญชาได้
เพราะฉะนั้นปัญญาจะเป็นสภาพที่ค่อยๆ เข้าใจคลายๆ ค่อยๆ ละความไม่รู้ จากสิ่งที่กำลังปรากฏเพราะรู้ขึ้น จนกว่าจะถึงระดับที่สามารถเข้าใจว่า สติปัฏฐานเป็นปกติ ไม่ว่าขณะไหน และไม่ใช่เป็นการหวังรอ หรือต้องการให้สติเกิดมากๆ เพราะว่าหนทางละ จะต้องละจริงๆ และละไปโดยตลอด ถ้ายังไม่ละเมื่อไร ต้องการเมื่อไร นั่นคือกั้นทันที
นี่คือความละเอียดของสติปัฏฐานว่า ถ้าเป็นสติปัฏฐานจริงๆ ต้องเป็นหนทางละความไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ
ถ้ามีใครที่อยากมีสติมากๆ ถูกหรือผิดคะ ผิด เพราะว่าความอยากเป็นเครื่องส่องถึงความเป็นตัวตนว่า มากมายสักแค่ไหน