อารมณ์ธรรมดาๆ สะสมจนมีกำลัง


    มีข้อความที่ทรงแสดงไว้ว่า เรามีกามราคานุสัยแน่นอน ความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส จะมากสักแค่ไหน ลองคิดดู มี แต่ยังไม่เกิด ยังไม่ได้ปรากฏ แต่เวลาที่เกิดชอบอะไรขึ้นมาสักอย่าง สิ่งที่มีอยู่แล้ว ยังเพิ่มกำลังเข้าไปอีกทุกครั้งที่เกิดโลภะ สับปะรด หรือขนมปังสีต่างๆ ก็แสดงให้เห็นว่า เราไม่รู้เลยถึงโทษของอันนี้ แต่เราไปคิดถึงโทษใหญ่ข้างหน้า แต่ถ้าเราเห็นโทษแม้เพียงเล็กน้อยของโลภะ เราก็เป็นคนที่ค่อยๆ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ง่ายขึ้น อะไรก็ได้ แล้วแต่ว่าเราจะมีกำลังแค่ไหน แต่เวลาที่จะไม่สามารถจะเป็นอย่างนั้น โลภะมีกำลัง ก็รู้ว่า นี่กำลังของโลภะ เพราะเหตุว่าแม้แต่ธรรม จิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ ต้องมีอารมณ์ นี่แน่นอนที่สุด จิตไม่มีอารมณ์ไม่ได้ แต่ก็มีอารัมมณาธิปติ อารมณ์ที่เป็นใหญ่ เป็นที่ต้องการ เพราะเหตุว่าเมื่อกี้นี้เราก็เดินวนหลายรอบที่โต๊ะอาหาร อันไหนที่เราหยิบมา คือ อารัมมณาธิปติ เราไม่ทิ้งอันนั้นค่ะ เราต้องการอันนั้น

    เพราะฉะนั้นจากอารมณ์ธรรมดา ก็เพิ่มเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย หมายความถึงสิ่งที่โลภะ ยินดีต้องการ อะไรที่เราไม่ทิ้ง ไม่ใช่แต่เฉพาะสำหรับโลภะอย่างเดียว แม้แต่กุศลก็มี ทีนี้เราจะยกตัวอย่างหรือพูดเพียงบางอย่าง แล้วถ้าเราชอบสิ่งนั้นบ่อยๆ อารัมมณาธิปติ ของเราคือไส้กรอก สมมติว่า ไส้กรอกเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย เสพคุ้นก็เป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย ที่ทำให้ไม่ว่าเราจะเกิดเป็นใครเมื่อไร ชาติไหน สิ่งที่เราคุ้นเคยติดเป็นนิสัยว่า เรามีความชอบ มีความพอใจในอารมณ์อย่างนั้น เช่น บางคนชอบสีแดง แค่ปากกาก็ต้องเลือกสี บางคนก็ชอบสีฟ้า และก็เสื้ออีก แล้วยังลายอีก

    เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า เราจะเป็นผู้ที่ละเอียดขึ้นในชีวิตประจำวัน และเห็นกำลังของโลภะ หรือความไม่รู้ของเราว่า มากมายที่จะทำให้เรามีอุปนิสัยต่างๆ กัน

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ก็ยังเกี่ยวข้องไปถึงอนันตรูปนิสสยปัจจัยอีก เพราะเหตุว่าจิตเกิดดับสืบต่อ เป็นของธรรมดา เพราะอนันตรปัจจัย จิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับไปก็เป็นอนันตรปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด ทุกอย่างที่มีสะสมสืบต่อไปถึงจิตขณะต่อไป มีกำลังที่จะเกิดเมื่อไร เราก็จะรู้ว่า นั่นคือ อนันตรูปนิสสยปัจจัย เพราะเหตุว่าเวลาที่เราเห็นก็เป็นธรรมดา อนันตรปัจจัย อะไรๆ ไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นที่เราสะสมมามีกำลังที่จะเกิดขึ้น ขณะนั้นก็ยิ่งแสดงให้เห็นความเป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งด้วย คือ นอกจากจะเป็นอนันตรปัจจัย ก็ยังเป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัยด้วย

    เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่เราจะพิจารณาเข้าใจสภาพธรรมลึก แล้วก็ละเอียดขึ้น แต่ละคำที่เราศึกษามา อย่าทิ้ง เป็นความหมายหรือความเข้าใจเบื้องต้น ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจเวลาที่เราศึกษาละเอียดขึ้น ก็ทำให้เรามีความชัดเจนในความหมายนั้นขึ้นว่า ความหมายเดิม เราทิ้งไม่ได้ เราจะต้องเอามาประกอบหรือขยายให้มีความชัดเจนในส่วนนั้น

    เพราะฉะนั้นพื้นฐานต้องตามลำดับจริงๆ คือ เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังให้ชัดเจน และส่วนอื่นเพิ่มเติมประกอบให้เข้าใจขึ้น อย่างคำว่า อารมณ์หรืออารัมมณะ จิตต้องมีอารมณ์ แต่อารัมมณาธิปติ ไม่ใช่ต่างหากจากชีวิตประจำวัน และไม่ใช่เกินความเข้าใจด้วย สิ่งไหนที่เราไม่ทอดทิ้ง เราต้องการสิ่งนั้น ขวนขวายที่จะได้มา ก็คือ อารัมมณาธิปติปัจจัย แล้วก็จะทำให้เสพเป็นอุปนิสัยด้วยที่เรามีความต้องการในสิ่งนั้น โดยที่แต่ละคนรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า ไม่เหมือนกันเลย


    หมายเลข 8364
    23 ส.ค. 2567