ไม่ประมาทความละเอียดของธรรม


    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์พูดถึงไส้กรอกว่าเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย

    ท่านอาจารย์ คนที่หยิบไส้กรอกมา

    ผู้ฟัง แล้วก็เป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย แล้วต่อไปเป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ต่อไปจะมีความชอบในรสนี้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปไส้กรอก หรือในรูปอื่นก็ตาม

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นจากตรงนี้ที่เราการศึกษาเรื่องราวของธรรม เพื่อมาเข้ากับสภาพธรรม ในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมที่ละเอียด ก็ต้องมีประโยชน์สำหรับการพิจารณาธรรมมากขึ้นด้วย ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ คือ ธรรมเป็นสภาพที่ละเอียด ถ้าใครประมาทว่า ธรรมไม่ละเอียด คนนั้นผิด มีทางที่จะคลาดเคลื่อนไปเรื่อยๆ เข้าใจผิดต่อไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเรามีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นแก่น ที่เป็นพื้นอย่างมั่นคง ไม่ไขว้เขว เวลาที่ศึกษาพระไตรปิฎก และอรรถกถา เราจะต้องเข้าใจว่า ต้องสอดคล้องกันทั้งหมด และเป็นส่วนประกอบที่จะทำให้พื้นฐานที่เราเข้าใจแล้ว กระจ่างชัดเจนขึ้น แต่ไม่ใช่มาลบล้างคำเดิมที่เราเข้าใจอยู่แล้ว

    เพราะฉะนั้นอย่างการเข้าใจเรื่องจิตเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ ต่างกับเจตสิก เราจะรู้ได้เลยว่า ถ้าลักษณะของจิตไม่ปรากฏ เราเพียงแต่พูดเรื่องชื่อ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะอะไร เพราะเราไม่สามารถแยกลักษณะของจิตกับเจตสิกได้

    เพราะฉะนั้นขณะนั้นถ้าเวทนาปรากฏ แล้วเวลาที่จิตประกอบด้วยเวทนาอะไร เราจะรู้ลักษณะของจิตที่มีเวทนานั้นปรากฏ หรือเราจะรู้ลักษณะของเวทนาเจตสิกซึ่งเป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าสภาพของจิตกับเจตสิกต่างกันแน่นอน จิตไม่จำ จิตไม่รู้สึก แล้วจิตเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ เพราะฉะนั้นที่ว่าแม้แต่จิตก็เป็นนามธรรม เจตสิกก็เป็นนามธรรม จะรู้จริงๆ เมื่อไร เมื่อประจักษ์สภาพของธรรมที่เป็นจิต และสภาพธรรมที่เป็นเจตสิกที่แยกขาดจากกัน

    เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญา ต้องเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ และเวลาที่สติระลึก จะมีการศึกษาลักษณะนั้น เราไม่ต้องมาแยกโดยชื่อ ถ้าความทุกข์หรือสภาพที่เป็นทุกข์ทางกายเกิด ขณะนั้นไม่ต้องแยกเป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ลักษณะของจิตปรากฏไหมในขณะนั้น ลักษณะของจิตไม่ปรากฏ ลักษณะของเวทนาปรากฏ ก็ศึกษาเวทนานั้น แต่ว่าความสงสัยหรือความยังไม่กระจ่างชัด ถ้าสภาพธรรมไม่ได้ปรากฏโดยความเป็นธาตุแต่ละอย่าง ความสงสัยของเราย่อมเกิดขึ้นได้ แต่จะหายไปหรือค่อยๆ ลดลง ต่อเมื่อมีการเข้าใจลักษณะที่เป็นสภาพธรรมนั้นจริงๆ เพิ่มขึ้น อย่างโลภะ ย้ายจากเวทนามาเป็นโลภะ เวลาที่เราบอกว่า ขณะนี้เรากำลังชอบ สติปัฏฐานระลึกลักษณะที่ชอบ หรือระลึกรู้ลักษณะของจิตที่ประกอบด้วยโลภเจตสิก

    นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งใครสามารถที่จะรู้ จนกว่าจะรู้ว่าเป็นนามธรรมก่อน เมื่อนามธรรมกับรูปธรรมแยกขาดจากกัน ทั้งๆ ที่สภาพธรรมก็ต่างกันอยู่แล้ว แต่ความที่เราไม่รู้ชัดในลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม เราจะกล่าวได้ไหมว่า ขณะนั้นกำลังมีโลภะเป็นอารมณ์ หรือกำลังมีจิตที่มีโลภะเป็นอารมณ์ เพราะว่าทั้ง ๒ อย่างนี้เป็นนามธรรม แต่ถ้ามีความรู้ลักษณะของนามธรรมจริงๆ แล้ว นามธรรมแต่ละชนิดที่เกิดขึ้น เราก็รู้ว่าเป็นนามธรรมเท่านั้น แล้วก็มีลักษณะต่างกันด้วย นามธรรมที่เป็นโลภะ กับนามธรรมที่เป็นจิต นี่ก็ต่างกัน


    หมายเลข 8366
    23 ส.ค. 2567