ระลึกต่อไปจนกว่าจะชิน


    ผู้ฟัง ขณะที่ฟังเสียงท่านอาจารย์ ก็มีเสียงน้ำพุอยู่ด้วย ความคิดที่ท่านอาจารย์บอก เราก็ไม่สามารถห้ามได้ไม่ให้คิด อยากถามท่านอาจารย์ว่า ขณะคิดกับระลึกตรงลักษณะ พอจะสังเกตความแตกต่างกันได้บ้างไหมครับ

    ท่านอาจารย์ การที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมต้องทีละเล็กทีละน้อย ถ้าไม่มีขณะเริ่มเลย ขณะต่อๆ ไปก็มีไม่ได้ แต่ขณะที่เริ่มจะเล็กน้อยมาก เพราะเหตุว่าเกิดแล้วก็ดับไปเร็ว แต่เวลาที่มีความมั่นคง เพราะเหตุว่าได้อบรมนานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเสียงน้ำพุ ก็ต้องเป็นขณะที่นามธรรมรู้ ไม่ว่าจะเป็นเสียงนี้ก็ต้องมีนามธรรมรู้ ผู้นั้นจึงจะเข้าใจลักษณะของนามธรรมว่า มีตลอดเวลา เพราะว่าสามารถรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่แม้เป็นเสียงน้ำพุนิดหนึ่ง หรือเสียงที่กำลังพูดได้ยินอีกนิดหนึ่ง หรือเสียงอื่นอีกนิดหนึ่ง คือ ทั้งหมดจะเป็นโลกของปรมัตถธรรม เวลาที่สามารถจะเข้าใจว่า ทุกอย่างเมื่อจิตกำลังรู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นจึงปรากฏได้

    เพราะฉะนั้นนี่เป็นหนทางที่จะทำให้น้อมไปพิจารณาลักษณะของจิต เพราะเหตุว่าจิตเป็นเพียงสภาพรู้หรือธาตุรู้ ไม่ใช่ลักษณะของรูปหรือเสียง แต่น้ำพุปรากฏได้ เพราะขณะนั้นธาตุรู้กำลังรู้

    ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่า เมื่อไรที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธาตุ และรูปธาตุที่เป็นวิปัสสนาญาณ เมื่อนั้นก็จะต้องอบรมการที่จะชินต่อลักษณะของนามที่กำลังมีรูปหรือมีนามเป็นอารมณ์ ต่อไปอีกในวันหนึ่งๆ ที่จะให้มีความเข้าใจที่ทั่วไปในทุกสิ่งทุกอย่างว่า เป็นนามธรรม และเป็นรูปธรรม มิฉะนั้นเพียงแค่รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม แต่ไม่มีการพิจารณาหรือไม่มีการระลึกต่อไปในลักษณะของนามธรรมอื่น และรูปธรรมอื่น ที่ระลึกต่อไปอีกๆ จนกระทั่งเป็นโลกของปรมัตถธรรมเมื่อไร เมื่อนั้นก็แสดงว่า ความเจริญของวิปัสสนา หรือความรู้ถูก ความเห็นถูก ตามลำดับของปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณก็เกิด แต่ไม่ใช่นามรูปปริจเฉทญาณ ก็จะไปเป็นปัญญาขั้นอื่น แต่ถ้าไม่มีนามรูปปริจเฉทญาณ การที่จะถึงระลึกลักษณะของนามในลักษณะอื่นๆ ก็มีไม่ได้

    เพราะฉะนั้นการที่จะระลึกลักษณะของนามในลักษณะอื่นๆ ได้ ก็เพราะมีนามรูปปริจเฉทญาณแล้ว แต่ว่าในขั้นต้นเมื่อนามรูปปริจเฉทญาณยังไม่เกิด ก็เป็นการศึกษา ที่ใช้คำว่า “ศึกษา” คือ มีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏสั้นมาก แล้วสติก็ดับด้วย และจะเกิดต่อไปหรือว่าห่างกันเท่าไร หรือไม่ห่างกันเท่าไร ก็เกิดอีก ก็แล้วแต่ปัจจัยทั้งหมด

    ก็แสดงให้เห็นว่า ผู้นั้นต้องมีความอดทน “ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง” อดทนที่จะไม่มีความเป็นตัวตน ที่จะไปพยายามทำ เพราะว่ากั้นทันที ถ้าไม่อย่างนั้นพระผู้มีพระภาคก็จะไม่ตรัสว่า “เราพบนายช่างเรือน” ซึ่งสร้างจริงๆ สร้างทุกอย่าง สร้างภพ สร้างชาติ สร้างตลอด โดยการนำไปสู่ความต้องการอื่นๆ เรื่อยๆ ไม่ใช่การรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ


    หมายเลข 8370
    23 ส.ค. 2567