วิปัสสนาญาณเกิดแล้ว กิจต่อไปคืออะไร ๑


    อ.อรรณพ ความสมบูรณ์พร้อมของปัญญาตั้งแต่วิปัสสนาญาณขั้นที่ ๑ จนถึงขั้นมรรค สำหรับโลกุตตรมรรค นี่แน่นอน ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณก็เป็นความสมบูรณ์พร้อม ก็เป็นกตญาณแต่ละขั้นๆ อันนั้นหมายความว่าวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๑ ก็เป็นความสมบูรณ์พร้อมของกิจญาณ คือ การที่สติปัฏฐานได้เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เนื่องจากมีสัจญาณที่แก่รอบแล้ว ปัญญาก็สมบูรณ์ถึงขั้นที่เป็นวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๑ และหมายความว่ากว่าจะถึงวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๒ ก็ต้องมีการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นกิจญาณในระหว่างญาณที่ ๑ ถึงญาณที่ ๒ อีก ใช่ไหมครับ ไม่ใช่หมายความว่าวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๑ จะเกิดขึ้นบ่อยๆ เพื่อจะถึงวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๒ แต่ต้องเป็นการที่สติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม บ่มไปจนวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๒ ที่ ๓ จะเกิด เป็นอย่างนี้ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ คือการศึกษาธรรม อย่าติดที่ชื่อ เพราะว่าส่วนติดนิดหน่อยจะมาบังได้ ใช่ไหมคะ แต่เราต้องคิดถึงเหตุผล เพราะว่าบางครั้งเราต้องทราบว่า แสดงโดยอุกฤต สูงสุด อย่างเช่นจิตตวิสุทธิ จะไม่พูดถึงขณิกสมาธิเลย เป็นที่เข้าใจ อะไรที่เป็นที่เข้าใจ ต้องมาซ้ำอีกไหม แต่แสดงว่า ได้แก่อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ ถ้าอย่างนั้นคนที่อ่านก็คิดว่า ขณิกสมาธิก็ไม่ได้ ไม่ใช่จิตตวิสุทธิ แต่ที่ทรงแสดงไว้ ทรงแสดงว่า รวมหรือหมายความถึงแม้อัปปนาสมาธิ

    เพราะฉะนั้นเราต้องประกอบกันด้วย และจะต้องรู้ความหมายว่า ตรงนี้แสดงทำไมว่า ต้องมีอุปจารสมาธิกับอัปปนาสมาธิ สำหรับผู้ที่ถึง ถ้าผู้ที่ไม่ถึง จะมีไหม อัปปนาสมาธิ การเจริญสติปัฏฐานก็เจริญไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นถ้าศึกษาอย่างนั้น ตรงตามตัวหนังสือ ก็จะเกิดความเข้าใจผิด เพราะที่จริงที่กล่าวว่าไม่มี จะมีในที่อื่น ไม่ใช่มีในที่นี้ เราต้องรู้ด้วย เราจะบอกว่าไม่มีไม่ได้ เพราะว่าเขายังไม่ได้อ่านถึงตรงที่มี หรือเขาอาจจะข้ามตรงที่มี แล้วเขาก็บอกว่าไม่มี แต่ความจริงต้องประกอบกันทั้งหมด พิจารณาตามเหตุผล คือ อัปปนาสมาธิไม่มีก็ได้ สำหรับผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม วิสุทธิทั้ง ๗ ต้องครบ เพราะฉะนั้นจะขาดจิตตวิสุทธิไม่ได้ แม้คนนั้นไม่มีอัปปนาสมาธิ ก็สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    โดยนัยเช่นเดียวกัน เวลาพูดถึงสัจญาณ กิจญาณ และกตญาณ ท่านก็กล่าวสูงสุด คือ มรรคจิต และผลจิต แต่ถ้าไม่มีวิปัสสนาญาณ ถอยมาทีละขั้น จะมีการถึงได้ไหม และวิปัสสนาญาณก็เป็นอีกความหมาย เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่สติปัฏฐานซึ่งเพิ่งเริ่มเกิด แต่เป็นขณะที่สภาพธรรมปรากฏกับปัญญาซึ่งประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมนั้น โดยความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ไปนั่งรอคอยว่า จะเป็นนามรูปปริจเฉทญาณแล้ว เพราะตอนนี้รู้สึกว่าชัดเจนดี นอนกลางคืนดึกๆ ก็ไม่มีอะไร รูปอะไรก็หายไปหมด มีแต่สภาพธรรมที่กำลังปรากฏนิดเดียว ก็เป็นเรื่องคิดทั้งหมด เป็นเรื่องหวังทั้งหมด

    เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญา จะทิ้งความหมายหรืออรรถของการเป็นเรื่อง “ละ” ไม่ได้เลย เพราะว่าสิ่งที่จะกั้นตลอดก็คือ ความต้องการ โลภะเป็นสมุทัย เป็นตลอดเลย แต่เมื่อโลภะจะไม่เป็นสมุทัยต่อเมื่อเรามีความเข้าใจ จะเป็นหรือไม่เป็นไม่สำคัญ ความรู้ของเราในสภาพที่ปรากฏ แค่ไหน

    นี่เป็นสิ่งที่ตรงที่สุด เป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง เป็นอุชุปฏิปันโน แล้วไม่หวัง แล้วไม่คอย แล้วไม่ประเมิน แล้วไม่ไปเทียบเคียงว่า นี่เป็นหรือไม่เป็น เพราะนั่นคือตัวเรา ไม่ใช่ปัญญาแท้ๆ ที่กำลังมีสภาพธรรมนั้นปรากฏทางมโนทวาร โดยที่เป็นอนัตตา ไม่ได้ตระเตรียม แต่จากการอบรมถึงวาระที่วิปัสสนาญาณจะเกิดก็เกิด

    เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นสัจญาณ กิจญาณ หรือกตญาณ เราก็ต้องพิจารณาว่าทรงแสดงถึงขั้นอุกฤต แต่ถ้าไม่มีอย่างนี้ๆ ๆ ในเบื้องต้น อย่างนั้นก็ถึงไม่ได้ ถ้าไม่มีสติปัฏฐาน วิปัสสนาญาณก็เกิดไม่ได้ ถ้าวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นไม่เกิด ก็จะถึงการคลาย หรือการละจนกระทั่งถึงโลกุตตระไม่ได้

    นี่ขั้นต้นนะคะ แต่ตอนหลังจะต่อไปถึงปัญหาของคุณอรรณพที่ว่า เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดแล้ว กิจต่อไปคืออะไร นี่กตญาณ มีสัจญาณว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏเกิดดับแน่นอน วิปัสสนาญาณที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ประจักษ์การเกิดดับหรือยัง ยัง

    เพราะฉะนั้นเขารู้ว่า ต้องเจริญสติปัฏฐาน หรือสติปัฏฐานต้องเกิดอีก คือ จะไม่เป็นห่วงวิปัสสนาญาณที่เกิดแล้ว เพราะเหตุว่าถ้าห่วง ติดอีกแล้ว


    หมายเลข 8371
    23 ส.ค. 2567