สัจจญาณที่มั่นคงในหนทาง


    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่า สำหรับผู้เข้าใจเรื่องสติปัฏฐานก็จะไม่ไปทำสมาธิ แต่ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ และสำหรับผู้ที่มีเวลาว่างมากในชีวิตประจำวัน อย่างพระภิกษุ การเจริญสมาธิโดยการนั่งจะผิดปกติไหมครับ ถ้าเขาเข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นครั้งพุทธกาล พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ภิกษุรูปนี้สามารถจะได้ทั้งสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา สำหรับแต่ละบุคคล

    เพราะฉะนั้นสำหรับเรา วิปัสสนานี่ยากมาก สติปัฏฐานก็ไม่ง่ายเลย โอกาสที่จะอบรมก็คือในชาติที่เราเกิดมาได้ฟังพระธรรม ได้เข้าใจพระธรรม เพราะฉะนั้นถ้าเราคิดว่า สติปัฏฐานไม่เกิด เราจะไปทำสมาธิ สัจญาณของเรามั่งคงไหม เพราะว่าถ้าเราคิดอย่างนี้ เราก็จะไปทำสมาธิเรื่อยๆ แต่ถ้าเรารู้ว่า แม้สติเกิด ก็มีสมาธิซึ่งเป็นสัมมาสมาธิแล้ว เราจะไปทำสมาธิอะไร นอกจากเรารู้ว่า เราไม่รู้อะไร ใช่ไหมคะ เราก็ควรมีสัจญาณที่มั่นคงทำให้สติเกิดระลึก

    เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ มีคนที่ฟังธรรมด้วยกันหลายคน และฟังเรื่องสติปัฏฐานด้วย ฟังเรื่องวิปัสสนาญาณด้วย ฟังเรื่องอริยสัจด้วย คนหนึ่งระลึกเพราะมีเหตุปัจจัย คนหนึ่งสติไม่เกิด ไปทำอย่างอื่น ใช่ไหมคะ ก็เพราะมีเหตุปัจจัยที่จะทำอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้นอะไรขาด คือ สัจญาณที่มั่นคงที่จะเป็นปัจจัยให้สติเกิด เพราะฉะนั้นเราก็สะสมความมั่นคงอันนี้ เพื่อที่จะให้สติปัฏฐานเกิด เป็นสัจญาณ แต่ไม่ใช่ทั้งๆ ที่นั่งอยู่ด้วยกัน คนหนึ่งสติปัฏฐานเกิดแล้ว เพราะมีเหตุปัจจัย แต่อีกคนไปทำอย่างอื่น เพราะสติปัฏฐานไม่เกิด ทำสมาธิเสีย

    นี่ก็เพราะเหตุปัจจัยทั้งหมด ไม่ใช่เรา ต้องรู้ว่าไม่ใช่เรา ใครจะทำอะไรก็คือมีเหตุปัจจัยที่จะให้ทำอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นคนที่เข้าใจถูกต้องจริงๆ สมาธิใดจะประเสริฐเท่ากับสมาธิที่เกิดร่วมกับมรรค เพราะว่ามรรคเท่านั้นเป็นสังขารธรรมที่ประเสริฐ ถ้ากล่าวถึงสังขารธรรม เพราะว่าเป็นการอบรมที่จะให้ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง อันนี้ผมไม่ได้หมายถึงสมาธิที่จะไปจดจ้องอยู่ที่อารมณ์เดียว ให้ได้ฌาน แต่เป็นสมาธิที่สามารถมีสติปัฏฐานเกิดสลับได้

    ท่านอาจารย์ เป็นอย่างไรล่ะคะ สมาธิที่สามารถให้สติปัฏฐานเกิดสลับได้

    ผู้ฟัง เช่น พุทธานุสติ หรือว่าเมตตา

    ท่านอาจารย์ อันนั้นเป็นของธรรมดา ถ้าอ่านต่อไปจะพบว่า พุทธานุสติถึงอรหัตตผลเลย เพราะเหตุว่าอะไรคะ ก็เป็นสัจธรรม เราไม่ได้ห้ามใครเลย ต่อเมื่อไรเป็นโลกของปรมัตถ์ทั้งหมด จิตจะระลึกถึงพระพุทธคุณ ก็เป็นสภาพธรรม คือ เราสามารถมีความเข้าใจได้ถูกต้องว่า ทั้งหมดเป็นธรรม ชินกับลักษณะของความเป็นธาตุ เพราะเป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นจนกว่าจะถึงโสตาปัตติมรรค จนกระทั่งถึงอรหัตตมรรค แม้ขณะที่ระลึกก็คือไม่ใช่เรา แต่ไม่ใช่คนที่อ่านพยัญชนะนี้แล้วก็คิดว่า เพียงไประลึกถึงพระพุทธคุณก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ หนทางเดียว คือ สติปัฏฐาน เพราะฉะนั้นไม่ห้ามการระลึกถึงพระพุทธคุณ และขณะที่ระลึกนั้นสามารถจะถึงอรหัตตมรรคได้ เพราะเหตุว่าขณะนั้นรู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่เราที่ระลึก ไม่ว่าจะเป็นปีติ หรือเป็นอะไร ก็เป็นโลกของปรมัตถ์ที่สติสามารถจะรู้ เพราะเหตุว่าเป็นวิปัสสนาญาณทั้งหมด


    หมายเลข 8375
    23 ส.ค. 2567