ตามปัจจัยที่ได้สะสมมา
ผู้ฟัง พูดถึงเรื่องทิฏฐิ ที่เมื่อคืนนี้ถามอาจารย์ว่า ความคิดเห็นเรื่องกุศลจิต ควรเจริญ อกุศลจิต ควรละ ไม่ทราบความคิดเห็นแบบนั้นเป็นทิฏฐิอย่างหนึ่ง หรือว่าเป็นความคิดเห็นเฉยๆ หรือว่าอย่างไรครับ
ท่านอาจารย์ คืออ่านพระไตรปิฎกแล้วไม่ได้เข้าใจว่า ทั้ง ๓ ปิฎก ทรงแสดงสัจธรรม ถ้าดิฉันถามคุณโจนาธานว่า กุศลควรเจริญไหมคะ คุณโจนาธานจะตอบว่าอย่างไร
ผู้ฟัง จะตอบว่า ควรเจริญครับ
ท่านอาจารย์ นี่ถูกใช่ไหมคะ ทรงแสดงอย่างนี้ใช่ไหมคะว่า กุศลควรเจริญ แล้วใครวันนี้กุศลจิตเกิดมากๆ บ้าง ทั้งๆ ที่บอกว่า ควรเจริญ ใช่ไหมคะ คือ ความจริงเป็นอย่างนี้ แต่มีปัจจัยที่จะเป็นอย่างนี้หรือเปล่า ทรงแสดงเหตุผล แน่นอนค่ะ อกุศลเป็นสิ่งที่ควรละ พระพุทธเจ้าจะไม่ตอบว่า ไม่เป็นไร มีก็ได้ ไม่มีเลย แม้น้อยนิดก็ต้องละ และกุศลแม้น้อยนิดก็ควรเจริญ แต่เวลานี้เกิดหรือเปล่า เราไปทัชมาฮาล เราไปซื้อของ กุศลเกิดหรือเปล่า ทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริง ให้ไตร่ตรอง ให้เข้าใจถูกต้อง ให้มีปัจจัยที่กุศลจิตจะเกิด แต่ไม่ได้หมายความว่า ฟังธรรม รู้ว่า กุศลควรเจริญ เจริญเลยเยอะๆ เพราะควรเจริญ แล้วอกุศลควรละ ก็ละ ละ ละ เพราะไม่ควรมี ทำได้หรือเปล่า คิดว่าถูกต้องที่มีเราทำหรือเปล่า แต่ถ้าเข้าใจถูกต้องว่า กุศลเป็นธรรม อกุศลเป็นธรรม เกิดขึ้นเพราะปัจจัย ไม่มีใครอยากมีอกุศลเลย แต่ใครล่ะที่ไม่มีอกุศล และกุศลทุกคนก็อยากมี แต่ใครล่ะมีบ่อยๆ ถ้ามีความเข้าใจถูกต้องอย่างนี้ ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้ค่อยๆ คลายอกุศล เพราะมีการระลึกได้ว่า เป็นอกุศล แต่ไม่ใช่เป็นเราที่อยากจะมีกุศลมากๆ และก็อยากจะละอกุศลให้หมดไปเลย ไม่มีใครทำได้เลยค่ะ
ทรงแสดงสัจธรรมเป็น ๓ ปิฎก แล้วแต่ระดับขั้นพระวินัย หรือขั้นพระสูตร หรือขั้นพระอภิธรรม แล้วทุกคนก็พิสูจน์ด้วยตัวเอง มีความซาบซึ้งในกุศลควรเจริญแค่ไหน ก็เป็นแค่นั้น ทั้งๆ ที่อ่านแล้วก็รู้ กี่วันก็อ่านอย่างนี้ แต่อกุศลก็ยังมีอย่างนี้ ใช่ไหมคะ แล้วเราเอาคำนี้ไปไว้ตรงไหน เพราะว่าไม่มีปัจจัย และไม่ใช่เราคิดว่า เราจะพยายามไปบังคับ ใครบังคับได้ทั้งวัน ไปอยู่ป่า กินเผือก กินมัน ทำเนวสัญญานาสัญญา นั่นระงับ แต่ไม่ใช่การละ
เพราะฉะนั้นมีศีลละอกุศลขั้นหนึ่ง ความสงบของจิตที่เป็นสมาธิขั้นต่างๆ ละอกุศลอีกขั้นหนึ่ง และการอบรมเจริญปัญญาละอกุศลอีกขั้นหนึ่ง ทรงแสดงไว้ แล้วเราก็ไปควรละ ควรเจริญ แล้วรีบทำใหญ่ ทำไม่ได้ แต่เมื่อไรเกิด เรารู้ว่า มีปัจจัยจึงเกิด กุศลของแต่ละคน แต่ละทางไม่เหมือนกัน คนหนึ่งชอบให้ทาน อีกคนหนึ่งรักษาศีล อีกคนหนึ่งไม่สนใจเรื่องความเห็น จะผิดจะถูกอย่างไร ไม่สนใจเลย ฉันมีทาน มีศีลแล้ว ก็ตามการสะสมมาอย่างไร ก็มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าเราไม่มีการสะสมอุปนิสัยในเรื่องปัญญาเลย แล้วเราอยากเป็นพระโสดาบันอย่างนี้ แล้วเราก็ไปนั่งทำอะไรให้เป็นพระโสดาบัน ทั้งๆ ที่เราไม่มีความเข้าใจ ไม่มีการสะสมที่จะให้ถึงความเป็นพระโสดาบัน แต่เราอยากเป็น ใช่ไหมคะ