ตัณหา มานะ ทิฏฐิ
ผู้ฟัง ผมยังสงสัยที่ว่า เป็นเราด้วยตัณหา มานะ ทิฏฐิ ครับ และในขณะที่สักกายทิฏฐิว่าไม่เป็นตัวตน คือ ไม่ยึดถือขันธ์ ๕ ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด คือ ผมมีความเข้าใจว่า ที่เราจะละสักกายทิฏฐิได้ เหตุของสักกายทิฏฐิ คือ อวิชชา หรือความไม่รู้ การที่ไม่เป็นเราด้วยตัณหา มานะ ทิฏฐิ เป็นเรื่องของโลภะ
ท่านอาจารย์ โลภะเฉพาะตัณหา มานะก็เป็นมานเจตสิก
ผู้ฟัง แต่อยู่ในโลภมูลจิตหรือครับ
ท่านอาจารย์ เกิดด้วยกัน แต่มานะไม่ใช่โลภะ ถึงเกิดด้วยกัน มานะก็ไม่ใช่โลภะค่ะ
ผู้ฟัง แล้วที่เป็นสักกายทิฏฐิล่ะครับ
ท่านอาจารย์ ก็เป็นความเห็นผิด ซึ่งไม่ใช่โลภะ ไม่ใช่มานะ เจตสิก ๓ ประเภท
ผู้ฟัง ที่ว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นสักกายทิฏฐิ
ท่านอาจารย์ เห็นว่าเป็นเราด้วยทิฏฐิ ด้วยมานะ หรือด้วยตัณหา
ผู้ฟัง หรือเห็นว่าเป็นตัวตน นี่เหมือนกันไหมครับ
ท่านอาจารย์ ทิฏฐิก็คือตัวตนไงคะ
ผู้ฟัง คือว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ใช่ไหมครับ หมายความว่า สักกายทิฏฐิด้วย
ท่านอาจารย์ มีการยึดถือสภาพธรรมด้วยทิฏฐิ ด้วยโลภะ หรือด้วยทิฏฐิ หรือด้วยมานะ มี ๓ อย่าง ที่ยังมีความเห็นว่า เป็นเรา เป็นเราด้วยทิฏฐิ หรือเป็นเราด้วยตัณหา หรือว่าเป็นเราด้วยมานะ มี ๓ เรา
ผู้ฟัง ขณะนั้นมีสักกายทิฏฐิด้วย
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นเราด้วยทิฏฐิ ก็เป็นทิฏฐิทุกชนิด ถ้าไม่ใช่ก็เป็นด้วยโลภะเป็นของเรา ด้วยมานะว่าเป็นของเรา
ผู้ฟัง ในความเป็นเราด้วยตัณหา มานะ ทิฏฐิ ที่ท่านทรงแสดงไว้ ทรงแสดงตามลำดับในชีวิตประจำวันที่ว่าเกิดมากน้อยแตกต่างกันไปหรือเปล่าคะ
ท่านอาจารย์ เพื่อการละว่า ถึงแม้จะละความเป็นเราด้วยทิฏฐิแล้ว ก็ยังมีความเป็นเราด้วยมานะกับความเป็นเราด้วยโลภะ ซึ่งจะต้องละด้วย แม้ว่าจะไม่มีเราด้วยทิฏฐิ ก็ยังมีเราด้วยโลภะ ด้วยตัณหา หรือมีเราด้วยมานะ
ผู้ฟัง แต่ในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่ความเป็นเราที่เกิดขึ้นมากที่สุด คือ เป็นเราด้วยตัณหา
ท่านอาจารย์ แล้วแต่คน คนที่เห็นผิด ที่เขากำลังรบราฆ่าฟันกัน เขาก็มีความเห็นผิดมากในวันหนึ่งๆ