สติมีกำลังขึ้นเมื่อเข้าใจขึ้น
ผู้ฟัง คำว่า “รู้” นี้ ถ้าสมมติว่าเรารู้รูปหรือนามนี่ เราก็ไม่ทราบความหมายว่า สิ่งที่พูดนั้นคืออะไร ใช่ไหมคะ ที่เรารู้ว่า อันนี้เรื่องราว มันเป็นเรื่องราวไปแล้ว เพราะฉะนั้นที่เรารู้ว่า เสียงคือรูป นี่คือความจำเอา ยังไม่ใช่ทราบว่า เสียงคือรูป และตัวรู้คือนาม อย่างนี้ก็คือไม่รู้ว่า เรื่องราวที่พูดคืออะไร ใช่หรือเปล่าคะ ถ้าเรารู้เรื่องราวที่พูดคืออะไร เหมือนเป็นสัญญาหรือเปล่าคะ
ท่านอาจารย์ เรื่องราวเราคงรู้ เวลาฟังก็รู้ แต่ว่าเราไม่ได้รู้จักสภาพธรรมจริงๆ แม้แต่คำว่า “ธรรม” เราก็พูดได้ “ทุกอย่างเป็นธรรม” แต่ลักษณะที่เป็นธรรม ที่ไม่ใช่เรา เป็นสภาพที่มีจริงๆ ซึ่งไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นได้ เราก็ต้องรู้ว่า ขณะนี้ที่จริงแล้วผู้ที่ตรัสรู้ ตรัสรู้ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม หมายความว่าเป็นสิ่งที่มีจริง แต่ไม่ใช่ของใคร ไม่มีใครเป็นเจ้าของ
เวลาที่เราพูดคำว่า “ธา – ตุ” หรือธาตุ ก็แสดงความเป็นสภาพธรรมนั้นๆ ซึ่งไม่มีใครบังคับให้เป็นอย่างที่ต้องการ หรือไม่มีใครบังคับให้เกิดได้ ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ เช่น เสียงเดี๋ยวนี้มีลักษณะอย่างนี้ ปรากฏอย่างนี้ ใครจะไปเปลี่ยนให้เป็นเสียงอื่น อย่างอื่นก็ไม่ได้ นี่คือลักษณะของธรรม
เพราะฉะนั้นตลอดวัน ตลอดชีวิตก็ได้ ตั้งแต่เกิดจนตาย ก็เป็นธรรมแต่ละอย่างจริงๆ แต่กว่าเราจะรู้อย่างนี้ได้ เราก็ต้องอาศัยการฟัง และพิจารณา แล้วก็เข้าใจขึ้น
ผู้ฟัง นั่นหมายความว่า ขณะเราทราบว่า อันนี้คือรูป เสียงรูป
ท่านอาจารย์ อันนั้นคือความคิด ความเข้าใจ ความจำ
ผู้ฟัง เป็นความคิด แต่ถ้าสมมติว่าเราเกิดรู้จริงๆ ขึ้นมา เราจะทราบเนื้อเรื่องที่เราพูดหรือเปล่าคะ
ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีตัวธรรม ใช่ไหมคะ เวลาที่ได้ยินเสียง ขณะที่มีการได้ยินจริงๆ มีเรื่องไหมคะ
ผู้ฟัง อย่างที่เสียงนกร้อง มีเสียงเกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกันเราก็รู้ว่าเป็นเสียงนก
ท่านอาจารย์ แต่ต้องแยกค่ะ ขณะที่เพียงได้ยินจริงๆ ต้องมีใช่ไหมคะ ขณะนี้ได้ยินเสียง ไม่ต้องคิดอะไรเลยก็ได้ยิน แล้วเสียงก็ปรากฏ เพราะฉะนั้นขณะนั้นเป็นเรื่องหรือเปล่าที่กำลังได้ยินเสียง เฉพาะตอนที่ได้ยินเสียง มีเรื่องอะไรในขณะที่กำลังได้ยินจริงๆ หรือเปล่า
ผู้ฟัง ขณะนั้นไม่มี
ท่านอาจารย์ ไม่มี นี่คือปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ถ้ามีความคิดนึก ลักษณะที่คิดก็มีจริง สภาพคิดเป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าใจว่า ขณะที่ได้ยินเป็นขณะหนึ่ง ขณะที่คิดไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน ทั้งหมดเป็นปรมัตถธรรม ตลอดชีวิตเป็นปรมัตถธรรม ปัญญาจะต้องอบรมจนกระทั่งรู้จักโลกของปรมัตถธรรม ซึ่งขณะนั้นไม่มีเรื่องราว เพราะเหตุว่าเป็นปัญญาที่สามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมแต่ละอย่างเพิ่มขึ้นๆ ๆ ๆ
เพราะฉะนั้นถ้าเป็นการอบรมเจริญปัญญา ถึงระดับที่สามารถเข้าใจลักษณะของปรมัตถธรรม ไม่ว่าจะเป็นปรมัตถ์อะไร ทางตาแม้ขณะนี้ก็สามารถรู้ได้ เมื่อเห็นว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏ ทางหู เสียงได้ยินแล้ว ก็สามารถรู้ได้ว่า เป็นสภาพธรรมที่เป็นธาตุ แล้วแต่ว่าจะรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม
เพราะฉะนั้นสติก็มีกำลังขึ้น เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน แม้สติก็เพิ่มขึ้นเป็นสติพละ ผู้นั้นก็จะรู้ว่า ขณะใดยังไม่ใช่สติพละ ก็เป็นสภาพของการเจริญปัญญาที่อ่อนมาก ไม่มีกำลังพอที่จะเกิดแล้วรู้ เกิดแล้วรู้ว่า ขณะนั้นเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม
ผู้ฟัง ที่ถามท่านอาจารย์เพื่อความเข้าใจว่า ขณะที่บอกว่าเราได้ยินเสียง แล้วไม่ทราบว่าเป็นเสียงอะไร เพราะว่ามันเป็นเสียง แค่เสียง นั่นหมายความว่าเรามีสติ อย่างนั้นหรือคะ
ท่านอาจารย์ จะถามใคร ไม่ใช่ปัญญาแน่นอนค่ะ ถ้าถามว่า “มีสติใช่ไหม” ไม่ใช่ปัญญาแล้ว เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานต้องมีปัญญาเป็นปัจจัยทำให้เกิด เพราะว่าเวลาที่กุศลจิตเกิด เราสะสมมาที่จะเป็นไปในทาน ขณะนั้นไม่มีปัญญา ขณะที่รักษาศีล หรือขณะที่จิตสงบ ก็เป็นปัญญาต่างขั้น แต่เวลาที่จะรู้ลักษณะที่ไม่ใช่เรา นี่เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยการฟัง และเข้าใจอย่างดีมาก จึงจะเป็นปัจจัยให้แม้ขณะที่เสียงกำลังปรากฏ และได้ยิน สติก็ระลึกเกิดขึ้น เพราะมีความเข้าใจอย่างถูกต้อง แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง สัมมาสติก็เกิดไม่ได้ ขณะนี้เองที่กำลังฟัง ถ้าอบรมมาแล้ว สัมมาสติก็เกิดได้ ถ้าไม่อบรม ก็เป็นความคิดที่อยากจะระลึก หรืออะไรอย่างนั้นก็ได้ ที่เร็วมาก
เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ละเอียดที่จะเข้าใจได้ถูกว่า ขณะไหนสัมมาสติเกิดระลึก ขณะไหนไม่ใช่สัมมาสติ